จีนร่อแร่! ยักษ์ธนาคารระดับโลกหั่นจีดีพีเศรษฐกิจจีนกว่า -1% ชะลอลง 2 ปีซ้อน

200
0
Share:
จีนร่อแร่! ยักษ์ธนาคารระดับโลกหั่นจีดีพี เศรษฐกิจ จีน กว่า -1% ชะลอลง 2 ปีซ้อน

ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีจีนปี 2023 ลงถึง -1.6% ส่งผลจากเดิมประเมินว่าจะขยายตัวถึง 6.0% ในปีนี้ลงมาเหลือเพียง 5.4% นอกจากนี้ ยังลดเป้าจีดีพีจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2024 หรือปีหน้าลงจากเดิมที่ระดับ 4.6% มาเหลือเพียง 4.5% ส่งผลเป็นการลดแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 2 ปีติดต่อกัน หลังวนปี 2022 เศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ตกต่ำเหลือเพียง 3.5% ทำสถิติเลวร้ายที่สุดในรอบ 53 ปี หรือตั้งแต่ 1969 เป็นต้นมา

สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่หลังเปิดประเทศเมื่อเดือนธันวาคม 2022 เป็นต้นมา กลับพลิกผันการเป็นการชะลอตัวมากกว่าที่จะขยายตัวดีอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ ส่งผลให้ธนาคารจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ PBOC ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญหลายประเภทในปลายสัปดาห์ผ่านมา

โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2023 ผ่านมาธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ PBOC เปิดเผยว่า มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารมูลค่า 237,000 ล้านหยวน หรือ 33,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.16 ล้านล้านบาท ลงอีก 0.10% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลดลงจาก 2.75% เหลือ 2.65% มีผลทันที

ขณะที่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2023 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.10% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลงมาอยู่ที่ระดับ 1.9% มีผลทันที ส่งผลเป็นครั้งแรกที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ลงต่ำกว่า 2% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นปีนี้

มาตรการลดดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ค่าเงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศเปิดตลาดเช้าวันนี้ 13 มิถุนายน ร่วงต่ำลงทันทีมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 7.1748 ต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง -0.3%

ภาวะเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงตกอยู่ในภาวะชะลอตัว และซบเซา หลังจากในช่วงเปิดประเทศในเดือนธันวาคมเมื่อปีผ่านมาที่เศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ฟื้นตัวได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ในเดือนพฤษภาคมผ่านมา ตัวเลขส่งออกจีนแผ่นดินใหญ่ดำดิ่งมากถึง -7.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวในปี 2022 ซึ่งภาวะส่งออกตกต่ำดังกล่าวกลับมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ตัวเลขกิจกรรมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหนักในเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าชะลอตัวลงด้วย รวมถึงอัตราการว่างงานของแรงงานวัยหนุ่มสาวในเดือนเมษายนกลับพุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 20.4%

ทั้งนี้ ภาวะว่างงานของแรงงานวัยหนุ่มสาวในเดือนพฤษภาคม พบว่า อัตราว่างงานของชาวจีนวัย 16-24 ปี อยู่ที่ 20.8% ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นจาก 20.4% ในเดือนเมษายน ส่งผลทำสถิติสูงสุด 2 เดือนติดต่อกัน ขณะที่อัตราว่างงานในเขตเมืองโดยรวมยังคงเดิมที่ 5.2% ส่วนดัชนีภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 3.5% ลดลงจากเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 5.6% เช่นเดียวกับดัชนีการบริโภคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 12.7% ต่อปี ลดลงจากเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 18.4% ต่อปี