จี้มหาดไทยออกมาตรฐานอาคารรับแผ่นดินไหว

757
0
Share:

นายเอนก ศิริพานิชกร รองประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร กล่าวว่า จากเหตุแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องในคืนวันที่ 20 พ.ย.2562 ถึงช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ย.2562 ในระดับความรุนแรงต่ำสุดที่ 2.9 และสูงสุดที่ 6.4 ทำให้หลายพื้นที่ของไทย ตั้งแต่บริเวณภาคเหนือ ลงมายังบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้ที่พักอาศัยหรืออยู่บนตึกสูงสามารถรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เหตุเพราะดินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นดินอ่อนและเป็นแอ่งกะทะ
.
โดยประชาชนสามารถดูแลตัวเองขณะเกิดแผ่นดินไหวเบื้องต้นได้โดยหาที่กำบัง เช่น หลบใต้โต๊ะ และไม่อยู่ใกล้บริเวณชั้นหนังสือหรือตู้ เป็นต้น แต่ในกรณีที่ประชาชนมีความกังวลใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารที่พักอาศัยอยู่ สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เช่น สังเกตรอยร้าวแนวเฉียงบริเวณกำแพงและเสา จากนั้นบันทึกภาพรอยร้าวดังกล่าว พร้อมส่งคำร้องเพื่อขอตรวจสอบได้ที่ สภาวิศวกร หรือวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. โดยจะมีการจัดส่งทีมวิศวกรอาสาลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบเป็นลำดับถัดไป
.
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกร ขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งออกกฎกระทรวง กำหนดรับรองน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่ พร้อมเร่งบรรจุพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวจากเดิม 22 จังหวัด เป็น 43 จังหวัด เพื่อกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารรูปแบบใหม่ ที่ต้องออกแบบโครงสร้างอาคารให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหว
.
ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมคนกรุงฯ ให้พร้อมรับมือต่อการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต ภาครัฐ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมใน 3 ด้าน คือ 1. จัดอบรมให้ความรู้ประชาชน เรื่องผลกระทบจากแผ่นดินไหว วิธีการดูแลอาคารให้ปลอดภัย // 2. มีการตรวจสอบอาคารตามความเสี่ยง โดยแบ่งประเภทของอาคารตามความเสี่ยง เช่น สีแดง อาคารเก่าที่เสี่ยงมาก ต้องปรับปรุง เสริมโครงสร้างทันที // สีส้ม อาคารที่เสี่ยงระดับกลาง ที่ต้องหมั่นตรวจสอบ ตามกำหนด และ สีเหลือง อาจมีความเสี่ยง เช่น มีการต่อเติม และ 3. มีสถานีวัดแรงสั่นสะเทือน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในทุกช่องทางทันที
.
โดยอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว คือ อาคารเก่า กึ่งกลาง กึ่งสูง หรือมีการก่อสร้างก่อนปี 2550 เพราะได้รับการออกแบบและก่อสร้างมายาวนาน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรตรวจสอบแข็งแรงเชิงโครงสร้างของอาคารอย่างใกล้ชิด เพราะในอนาคตอาจจะเกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้น และรุนแรงมากยิ่งขึ้น