จ่อขึ้นดอกเบี้ยอเมริกาอีก 0.75% ชาติอาเซียนโดยเฉพาะไทยเสี่ยงสูง-เงินไหลออกพุ่งอีก

519
0
Share:

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดการวิเคราะห์ผลกระทบจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟดอีก 0.75% ในรอบการประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นี้ พบว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียน และเอเชีย จะได้รับผลกระทบในวงกว้างที่แตกต่างกันในด้านกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกเร็วและแรงมากขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าลงของสกุลเงินท้องถิ่นที่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้รับผลกระทบสูง ที่สำคัญ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบสูงโดยติดอยู่วนอันดับต้นๆในทุกเครื่องมือชี้วัดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก ตามด้วยอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์อยู่ในจุดที่ดีกว่าที่สามารถรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปก่อนหน้านี้ และปรับขึ้นในอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับตัวชี้วัดแรก ได้แก่ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระหว่างดอกเบี้ยเฟดที่เพดานสูงสุดที่ 2.50% (เมื่อขึ้นอีก 0.75%) เทียบกับดอกเบี้ยระยะสั้นเฉลี่ย 5 ปีติดต่อกันของทุกประเทศ พบว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.75% จะทำให้ความสามารถในการรับมือความผันผวนลดต่ำลง เรียงลำดับจากแย่ที่สุดไปดีที่สุด คือ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์

ต่อมาเป็นตัวชี้วัดการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยระยะสั้นกับอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย 5 ปี มีความหมายถึงปัจจุบันยิ่งอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงยิ่งกระทบความสามารถในการปรับอัตราดอกเบี้ยที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เรียงตามลำดับพบว่า ไทยเผชิญปัญหานี้มากที่สุด รองลงมาคือ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินเดีย หลายประเทศในอาเซียนปัจจุบันมีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ เช่น เกาหลีใต้ในรอบ 23 ปี ออสเตรเลียในรอบ 21 ปี ไทยในรอบ 14 ปี

สุดท้าย คือความน่าสนใจในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีในกลุ่มประเทศเอเชียเฉลี่ย 5 ปี กับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วงอายุเดียวกัน พบว่า มาเลเซียรั้งท้ายสุด ถัดมาคือไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ในขณะที่ ออสเตรเลียอยู่ในระดับดีที่สุด ตามด้วยนิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้