จ่อยกเลิก! ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก กฎหมายเช็ค ปี 2534 เน้นเอาผิดทางแพ่ง

275
0
Share:

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.. 2534 .. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.. 2534 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์

หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ กำหนดมาตรการเพื่อรองรับกรณีที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาแล้ว และในกระบวนพิจารณาของศาล เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงให้มีการผ่อนชำระเงินตามข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา

โดยให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายและหากต่อมาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

กำหนดศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีในส่วนแพ่ง กำหนดมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยตัวผู้ต้องโทษ (1) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการต้องโทษจำคุก (2) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติหรือการพักการลงโทษ

กำหนดวิธีการคำนวณโทษจำคุกในกรณีที่ผู้ต้องโทษจำคุกได้รับโทษจำคุกสำหรับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และความผิดตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และถ้าโทษที่ได้รับไปแล้วเท่ากับหรือเกินโทษที่ได้รับสำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษโดยทันที

นายชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากสมาคมธนาคารไทย โดยเห็นว่าเห็นด้วยในหลักการว่า บุคคลผู้ปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่ง ย่อมไม่สมควรได้รับโทษทางอาญาด้วย แต่ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ

สมาคมธนาคารไทย บอกว่า ปกติถ้าฟ้องผิดทางแพ่งอย่างเดียว กระบวนการกว่าจะเรียกเงินคืนได้ ชักช้า และเสียเวลาเยอะ และจะไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ ดังนั้น ยกเลิกไปเฉยๆ เจ้าหนี้จะไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น สมาคมธนาคารไทย จึงบอกว่าควรมีกฎหมายกำหนดโทษอาญาฉบับใหม่ สำหรับผู้ที่เจตนาออกเช็คโดยไม่สุจริต เช่น แยกระหว่างคนที่ตีเช็คไปแต่หมุนเงินไม่ทันจริงๆ กับ จงใจให้เช็คไม่ผ่านโดยทุจริต 2 กรณีนี้ควรจะแยกกันเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้

อย่างไรก็ตาม หากออกกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ แต่อย่างน้อย ขอให้มีมาตรการคู่ขนาน เช่น ต้องมีการส่งข้อมูลของคนที่จ่ายเช็คแล้วเป็นเช็คเด้งไปที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นๆ ได้ข้อมูลว่าต่อไปนี้คนที่จ่ายเช็คเด้งอาจไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เช็คอีก หรือ ปรับเพิ่มขึ้น 2 เท่า พร้อมทั้งไม่ให้ใช้เช็ค 3 ปี ซึ่งที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ให้กระทรวงยุติธรรมหาแนวทางปฏิบัติ