ซีอีโอไมโครซอฟท์ถึงไทย ตั้งศูนย์ข้อมูลครั้งแรก-แห่งแรกในไทย ดันคนเชี่ยวชาญเอไอในไทย

27
0
Share:

นายสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน จำกัด กล่าวว่า วันนี้ 1 พฤษภาคม เรามีความยินดีที่ประกาศจัดตั้งศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล ปัจจุบันไมโครซอฟท์มีศูนย์ข้อมูลมากกว่า 300 แห่งทั่วโลก ไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI การเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ครั้งแรกในไทย ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับคลาวด์และ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI เพื่อช่วยให้องค์กรไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับไทย ไมโครซอฟท์ในระยะแรกจะช่วยยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน ไมโครซอฟท์พร้อมผลักดันการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาในประเทศไทย ผ่านโครงการและกิจกรรมอย่าง AI Odyssey ผลักดันนักพัฒนาชาวไทยกว่า 6,000 คน ยกระดับทักษะความสามารถขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือโตถึง 24%

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด อ้างอิงถึง งานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Kearney ที่คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 37,000 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นยอด GDP ของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.3 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่า นายสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไมโครซอฟต์ คอร์ปอเรชัน จำกัด ไม่ได้กล่าวถึงมูลค่าการลงทุนของไมโครซอฟท์ในประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการแถลงข่าวบนเวทีงานไมโครซอฟท์ เดย์ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ 30 เมษายน 2024 โดยกล่าวว่า ไมโครซอฟท์จะใช้งบประมาณใน 4 ปีข้างหน้าที่ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 63,750 ล้านบาทลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเครือข่ายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอในประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้เป็นการลงทุนที่มีมูลค่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 29 ปีของบริษัทไมโครซอฟท์ที่เปิดมาในประเทศอินโดนีเซีย

นายสัตยา นาเดลลา กล่าวต่อไปว่า ตลาดอินโดนีเซียมีความสำคัญต่อไมโครซอฟท์ เนื่องจากประเมินว่าจะเป็นสังคมนักพัฒนาเทคโนโลยีใหญ่อันดับที่ 5 บนแพลทฟอร์มการพัฒนาโปรแกรมซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์ที่มีชื่อว่า กิ๊ทฮับ (GitHub) ภายในปี 2026 นี้ ปัจจุบันมีนักพัฒนาโปรแกรมในอินโดนีเซียกว่า 3.1 ล้านคนใช้แพลทฟอร์มกิ๊ทฮับของไมโครซอฟท์ กลายเป็นศูนย์รวมสังคมนักพัฒนาโปรแกรมที่ใหญ่อันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของแพลทฟอร์ม ซึ่งเป็นรองต่อจากจีน และอินเดีย จำนวนชาวอินโดนีเซียที่เป็นนักพัฒนาโปรแกรมเพิ่มขึ้นมากถึง 31% ในปีผ่านมา ท่ามกลางจำนวนโครงการปัญญาประดิษฐ์ประเภทเจนเนอเรทีฟบนแพลทฟอร์มดังกล่าวพุ่งมากขึ้นถึง 213%