ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดร่วงกว่า 120 จุด น้ำมันดิบดิ่งเหวหลุด 100 ดอลลาร์

265
0
Share:
ดัชนี หุ้น ดาวโจนส์ ปิดร่วงกว่า 120 จุด น้ำมันดิบดิ่งเหวหลุด 100 ดอลลาร์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 30,967 จุด -129 จุด หรือ -0.42% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 3,831 จุด +6 จุด หรือ +0.16% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 11,322 จุด +194 จุด หรือ +1.75% ในสัปดาห์ผ่านไป ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ปิดร่วงลง -1.3%, -2.2% และ -4.1% ตามลำดับ นับเป็นสัปดาห์ที่ 4 จาก 5 สัปดาห์ที่ดัชนีหุ้นทั้ง 3 แห่งปิดในแดนลบ

สาเหตุจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี กลับลดลงตกต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี สะท้อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาอาจจะกำลังเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดำดิ่งหนักถึง 10% ปิดตลาดหลุด 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากความกังวลของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะถดถอย

ตลาดหุ้นนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ในไตรมาสที่ 2 พบว่า ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ร่วงหนักถึง -11.3% ส่งผลดำดิ่งมากกว่า 15% ในครึ่งปีแรก ด้านดัชนีหุ้นนาสแดคในไตรมาสที่ 2 ทำสถิติเลวร้ายที่สุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2008 โดยดำดิ่งหนักมากถึง -22.4% ที่สำคัญดัชนีหุ้นนาสแดคทำสถิติทรุดหนักรุนแรงเฉียด -32% เข้าสู่ภาวะหมี หรือ Bear Market นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีดังกล่าวทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่สำคัญยังตกต่ำมากถึง -29.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดทรุดหนักกว่า -16% ทำสถิติรายไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 2 ปี 3 เดือน หรือนับตั้งแต่มีนาคม ปี 2020

นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดครึ่งปีแรก ทำสถิติดำดิ่งรุนแรงในรอบ 52 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมาเนื่องจากดำดิ่งหนักถึง -20.6% นอกจากนี้ยังทรุดหนักมากกว่า -21% เมื่อเทียบจากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ทำให้เข้าสู่ภาวะหมี หรือ Bear Market

สำหรับปัจจัยในภาพรวมที่กระทบตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะถดถอยมีสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่องในรอบ 41 ปี ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่มากที่สุดถึง 0.75% ทำสถิติมากที่สุดในรอบ 28 ปี ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการะยะสั้นอายุ 10 ปี อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติศาสตร์เกินกว่า 3% ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาสำคัญหลายตัวที่ยังย่ำแย่ต่อเนื่อง สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดทำสถิติพุ่งสูงในรอบหลายปี มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่การผลิตของระบบเศรษฐกิจโลก

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 99.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -8.93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -8.24% ในช่วงระหว่างวันนั้น มีราคาร่วงหนักต่ำสุดที่ 97.43 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือร่วงกว่า -10% ส่งผลราคาปิดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 102.77 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -10.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -9.45% ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ในสัปดาห์ที่ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 แห่ง ปิดสวนทางกัน โดยราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์เพิ่มขึ้น +0.9% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ ลดลง -1.2% ตามลำดับ

สาเหตุนักลงทุนกังวลอย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถดถอย ซึ่งอาจจะกำลังเกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นแล้ว ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบอาจลดลงมาก ท่ามกลางภาวะน้ำมันดิบตลาดโลกตึงตัวต่อเนื่อง ด้านธนาคารซิตี้ กรุ๊ป ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะตกต่ำลงอยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นปีนี้ ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงมีผลต่อพื้นฐานราคาน้ำมันดิบในระดับสูงนั้น ยังคงมีผลต่อการซื้อขายในระยะกลาง ได้แก่ กลุ่มโอเปกพลัสแถลงผลการประชุมว่ามีมติยึดตามข้อตกลงกาคปรับขึ้นกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามมติเดิมคือ 648,000 บาร์เรล/วันในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะน้ำมันดิบตลาดโลกตึงตัวอย่างมาก นอกจากนี้ คนงานในแท่งขุดเจาะน้ำมันดิบทั้ง 74 แห่งในประเทศนอร์เวย์จะผละงานประท้วงตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 5% ของประเทศนอร์เวย์ ทำให้น้ำมันดิบขาดหายจากตลาดโลกราววันละ 320,000 บาร์เรล นอกจากนี้ ความไม่สงบที่รุนแรงในประเทศลิเบียส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตแบะการส่งออกน้ำมันดิบลดลงมาเหลือระหว่าง 365,000-409,000 บาร์เรล/วัน จากเดิมที่ส่งออกได้ถึง 865,000 บาร์เรล/วัน

ขณะที่ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย ยอมรับว่าแนวคิดจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียของกลุ่มจี 7 จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งสูงอย่างแน่นอน

ราคาทองคำล่วงหน้านิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 1,766.90 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -40.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -1.9% ในสัปดาห์ผ่านไป ราคาทองคำลดลงมากกว่า 1% ส่งผลให้มีราคาทองคำรายไตรมาสที่ตกต่ำมากกว่า -6% นอกจากนี้ ยังทำสถิติราคาทองคำร่วงลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ก่อนหน้านี้ ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 หรือในรอบ 18 เดือน

สาเหตุจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาปรับแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 19 ปี สอดรับกับแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในสหรัฐอเมริกาจะเร่งตัวมากขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาทองคำตลาดโลกในทางเทคนิคหลุดระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์