ดัชนีหุ้นดาวโจนส์พลิกร่วงกว่า 100 จุด น้ำมันดิบโลกปิดพุ่งเหนือกว่า 76 ดอลลาร์

235
0
Share:
ดัชนี หุ้น ดาวโจนส์ พลิกร่วงกว่า 100 จุด น้ำมันดิบโลกปิดพุ่งเหนือกว่า 76 ดอลลาร์

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2023 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 34,299 จุด -108 จุด หรือ -0.32% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 4,409 จุด -16 จุด หรือ -0.37% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 13,689 จุด -93 จุด หรือ -0.68% ส่งผลให้หยุดดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ที่ปิดเพิ่มขึ้นถึง 6 วันติดต่อกัน นับเป็นสถิติปิดบวกติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน หรือตั้งแต่พฤศจิกายน 2021 เป็นต้นมา

ในสัปดาห์นี้ ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่งปิดขึ้น +1.3%, +2.6% และ +3.3% ตามลำดับ ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ต่อเนื่อง ทำสถิติยาวนานเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน หรือตั้งแต่พฤศจิกายน 2021 เป็นต้นมา และยังพุ่งทะยานถึง +26% นับจากดัชนีหุ้นดังกล่าวเข้าสู่ภาวะหมีที่ผ่านมา

ด้านดัชนีหุ้นนาสแดคในสัปดาห์นี้เป็นสถิติรายสัปดาห์ที่ดีที่สุดในรอบ 2 เดือนกว่า หรือนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังปิดขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 8 ต่อเนื่อง หรือใน 2 เดือน ทำสถิติยาวนานเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีกว่า หรือตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

สาเหตุจากนักลงทุนเทขายทำกำไรช่วงสั้นหลังมีความมั่นใจในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอีกครึ่งเปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หลังจากคืนผ่านมากระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขยอดขายปลีกเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเหนือคาดหมายถึง 0.3% ตัวเลขการผลิตในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.1%

นักลงทุนยังประเมินว่ายังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ผ่านมา

ขณะที่ตัวชี้วัดแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ที่เรียกว่า ซีเอ็มอีเฟดวอทช์ ทูล พบว่า มีโอกาส 67% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว 0.25% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งลดลงจากเดิมที่ให้น้ำหนัก 70% ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมา ที่สำคัญ โอกาสลดดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้

นักวิเคราะห์และนักลงทุนในสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกถึง 0.5% ในช่วงครึ่งปีหลังในการประชุมราว 2 ครั้งๆละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 5.00-5.25% มาเป็น 5.50-5.75% ทำสถิติอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี

ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 71.78 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.16 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 8 มิถุนายนผ่านมา และเป็นราคาน้ำมันดิบปิดขึ้น 2 วันติดต่อกันรวม 3.51 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ปิดเพิ่มขึ้น 2.3%

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ สหรัฐอเมริกา พุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 76.61 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +0.94 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 8 มิถุนายนผ่านมา และเป็นราคาน้ำมันดิบปิดขึ้น 2 วันติดต่อกันรวม 3.41 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ปิดเพิ่มขึ้น 2.4%

ในปี 2022 ผ่านไปราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างมากต่ำสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับเหรียญยูโร หลังจากธนาคารกลางยูโรขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในคืนผ่านมา ทำสถิติสูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่ปริมาณการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปเดือนพฤษภาคมของจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 15.4% ทำสถิติสูงสุดอันดับ 2 รองจากสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ของจีน สะท้อนการใช้น้ำมันในประเทศจีนเพิ่มขึ้น

นักลงทุนยังคงประเมินการส่งสัญญาณของประธานเฟดที่แถลงอย่างชัดเจนว่า เฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.5% ในช่วงที่เหลือของครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ในปีนี้ลงถึง 9 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 81 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 1,958.83 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +0.65 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.1% ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 1,971.20 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +0.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.1% ในสัปดาห์นี้ ราคาทองคำตลาดโลกปิดลดลง -0.1%

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนเมษายนผ่านไป ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 2,048.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากวิกฤตธนาคารเอสวีบี และเอสบี ปิดกิจการและถูกควบคุมโดยทางการสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในปี 2022 ผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

สาเหตุจากบรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างเงียบเหงา และเบาบาง ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนจากค่าดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีสถิติใกล้เคียงระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการะยะสั้นอายุ 10 ปี ลดต่ำลงหลังตัวเลขยอดผู้ใช้แรงงานขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์ในข่วงว่างงานกลับเพิ่มสูงเหนือตัวเลขที่คาดการณ์ไว้

แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 1 เดือน หรือในการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวถึง 11 ครั้งติดกัน แต่กลับส่งสัญญาณขัดเจนว่า ยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอีกในช่วงเหลือของปีนี้ ส่งผลให้มีการประเมินว่าดอกเบี้ยดังกล่าวอาจปรับขึ้นถึง 0.5% ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งสัก 2 ครั้งๆ ละ 0.25%

นอกจากนี้ ประธานเฟด กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยืดหยุ่นอย่างแข็งแกร่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีอัตราการเติบโตสูงเกินคาด รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูงกว้าเป้าหมายของเฟดถึงกว่า 1 เท่า ปัจจัยเหล่านี้ ยังคงทำให้เฟดต้องจัดการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาต่อไป

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงขึ้นต่อเนื่องกลายเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นในการลงทุนทองคำ

ขณะนี้ ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริการาว 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 67% มากกว่าเมื่อวานนี้ที่ระดับ 70%