ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มครั้งแรกในรอบ 3 เดือน การบริโภคภาคเอกชน

193
0
Share:
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มครั้งแรกในรอบ 3 เดือน การบริโภคภาคเอกชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.5 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยเมื่อพิจารณาในองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบวว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ ขณะเดียวกันเงินบาทอ่อนค่า และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลง ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังกดดันราคาพลังงานโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก

ด้านดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงจาก 104.3 ในเดือน พ.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤติภัยแล้งที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมฯ ยังเสนอภาครัฐยังคงยืนยันให้มีการพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้า งวด 3/2566 (ก.ย. – ธ.ค.66) ลงมาอยู่ที่หน่วยละ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ และบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งขอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมทสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ รวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้า และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง