นายกฯ ห่วงคนไทยใช้เงิน เล็งหาช่องทางรายได้ช่วยเหลือ จ่อสรุปต้องกู้เงินอีกหรือไม่

414
0
Share:

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเป็นการประชุมครั้งแรกหลังวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านไปได้ด้วยดี ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหน้างาน และที่อยู่เบื้องหลังที่ช่วยดูแลความปลอดภัยประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา สงกรานต์เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผน โรดแมปหลังโควิด-19 ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมการทุกมิติแล้ว

ปัญหาอยู่ที่งบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าดูแลคนเหล่านี้ทุกช่วงวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ใช้งบประมาณปีหนึ่งประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้น การเพิ่มขึ้นต้องดูงบประมาณที่เราหาได้ในอนาคต ว่าจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือการเกษตรอีกหลายชนิดเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท ดังนั้น การใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 ที่เหลืออยู่ และการจัดทำงบประมาณปี 2566 ให้หลักการไปแล้วว่าเราจะนำพาประเทศผ่านอุปสรรคและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ จะนำไปสู่อนาคตได้อย่างไร

โดยใช้หลักการทำให้อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต นี่คือหลักการของผมที่สั่งการ มอบหมายไปให้คณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ในขณะที่รายได้ของเราลดลงในหลายๆ เรื่อง แม้การส่งออกดีขึ้นก็ตาม

คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง (กนง.) ได้รายงานชี้แจ้งมาแล้วว่าเรามีเสถียรภาพเข้มแข็งเพียงพออยู่ เพียงแต่งบประมาณที่นำมาใช้ในการบริหารประเทศอาจจะต้องลดลงบ้าง ซึ่งแน่นอนต้องมีผลกระทบ เราใช้งบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบาง หรือ ผู้มีรายได้น้อยจำนวนสูงมาก คงต้องย้อนกลับไปดูผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ไว้ด้วย เพราะเป็นแหล่งการจ้างงาน เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ไปด้วยกัน จึงต้องหามาตรการ ดูแลไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นการจ้างงานก็ลดลง รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่รายได้สูงในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว “ผมห่วงการใช้จ่ายของประชาชน วันนี้รายได้ลดลงขณะเดียวกัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค พลังงานสูงขึ้น ทำให้รายได้แต่ละวัน แต่ละเดือนไม่เพียงพอ เพราะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเกิบ 50% ของรายได้แล้ว หรืออาจจะมากกว่านั้น ดังนั้น ต้องอยู่ที่พฤติกรรมการ ก็ต้องปรับเปลี่ยน เรามีเงินน้อย เราก็ต้องเลือกใช้ เลือกกิน ให้เหมาะสมกับสถานะของเราในขณะนี้”

และไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะเราพยายามยกระดับรายได้ของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น แต่พอดีเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีก หลายอย่างก็ดีขึ้นแล้ว แต่หลายอย่างไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งให้มีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาเรื่อยๆ แต่จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมมาให้ได้ ต้องเข้าใจ

ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะยาว เพื่อลดภาระค่าครองชีพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการและภาคขนส่ง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง อะไรเหล่านี้ แต่ความมุ่งหมายต้องลดภาระของผู้ใช้บริการด้วย

เพื่อไม่ให้ขึ้นราคา ซึ่งระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจะลดภาระค่าครองชีพ ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชนในภาคขนส่ง ผู้ขับจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน ทั้งผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ประกันตนตามมาตราต่างๆ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาสินค้า

ส่วนรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่นั้น ขณะนี้กำลังหารืออยู่ และได้เตรียมมาตรการเอาไว้แล้ว ซึ่งการที่จะทำให้อยู่รอดปลอดภัยและเพียงพอ จะต้องดูว่าใช้งานอย่างไรมีเงินอยู่เท่าไหร่และจำเป็นจะต้องหาเพิ่มหรือไม่ เป็นขั้นตอนการหารือกันอยู่ หากไม่ได้ดูแลในช่วง โควิด-19 ประเทศไทยจะอยู่ในสถานภาพที่ดีกว่านี้ แต่สถานการณ์ภายนอกบังคับไม่ได้ อยู่เหนือการควบคุม ส่วนมาตรการที่กำลังพิจารณาจะเป็นคนละครึ่งเฟส 5 หรือไม่นั้น ได้ให้แนวทางไปแล้ว ยอมรับว่าใช้เงินมากพอสมควร แต่มีผลดี เกิดการหมุนเวียนของเงินอีกหลายเท่าตัว แต่ปัญหาคือจะหางบประมาณมาจากไหน ก็ต้องหาวิธีการ

ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมีอัตราการติดเชื้อน้อยมากและไทยเองก็ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อยู่ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศทำให้ธุรกิจต่างๆเดินหน้าต่อไปได้ เราต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่ใดแล้วพุ่งเป้าไปที่จุดนั้น การแก้ไขปัญหาไม่ใช่แค่จุดเดียวแต่จะต้องมีผลทางอ้อมไปยังจุดอื่นๆด้วย เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น เพราะหากจ่ายให้กับกลุ่มเปาะบางเพียงอย่างเดียวจะเป็นการจ่ายขาด ไม่เกิดรายได้เพิ่ม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของตนอยู่รอด ปลอดภัย เพียงพอ ยั่งยืน และพุ่งเป้า