ดับทุกตัว! ความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยดิ่ง ยอดขายหด-ลดจ้างงานกว่า 25% เจ้าของเกินครึ่งเหลือสภาพคล่องไม่ถึง 6 เดือน

501
0
Share:
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกและการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า แนวโน้มผู้บริโภคไทยยังคงระมัดระวังการจับจ่าย มีผลต่อยอดซื้อต่อใบเสร็จ และความถี่ในการจับจ่ายลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่องทางประเภทร้านค้าปลีก ที่สำคัญดัชนีชี้วัดการค้าปลีกไทยทุกตัวตกต่ำ มีดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวม (Retail Sentiment Index) เดือนพฤษภาคมลดลงอย่างต่อเนื่องจากเมษายน และยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 อย่างมาก สอดคล้องกับภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก 3 รุนแรงขึ้น สะท้อนถึงความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมที่ยังไม่ชัดเจน
.
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก 3 เดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสอง เดือนมกราคม 2564 ปรากฏว่า ดัชนีเดือนพฤษภาคม 2564 ลดต่ำกว่าในมกราคม 2564 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความยืดเยื้อของการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกนี้ อาจจะยาวนานกว่าระลอกสองมาก
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม หรือ Same Store Sale Growth (SSSG) ในเดือนพฤษภาคมลดลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลยอดขายสาขาเดิมลดลงมากกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับเมษายนและมีนาคมตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย ผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการไปจับจ่ายที่ร้านค้า
.
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเมื่อจำแนกตามรายภูมิภาค ปรากฏว่าลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ในทุกภูมิภาคทั่วไทย สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะในกรุงเทพ ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ลดลงชัดเจน
เมื่อมาพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างพฤษภาคมและเมษายนที่ผ่านมา พบว่าลดลงอย่างชัดเจน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก โดยลดลงอย่างชัดเจนในร้านค้าประเภทร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า’
สำหรับร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ท ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่นี้ ผู้บริโภคมีความกังวลที่จะยืดเยื้อ ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อเป็นแบบกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้มูลค่าการซื้อต่อครั้ง Per Spending หรือ Per Basket เพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญ คือความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง
.
ด้านร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และซ่อมบำรุง อาจเป็นกลุ่มร้านค้าประเภทเดียวที่ดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่อง สาเหตุจากราคาเหล็กที่เป็นปัจจัยพื้นที่ในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น และมีข่าวว่าภาครัฐจะมีมาตรการมาควบคุม ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นที่กำลังปรับราคาตามราคาเหล็กที่สูงขึ้นต้องสะดุด อย่างไรก็ตาม ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ยังคงได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal ทำงานที่บ้าน WFH อย่างต่อเนื่อง
การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ การจ้างงานและสภาพคล่องต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ ปรากฎผลดังนี้
.
ผู้ประกอบการกว่า 29% ระบุว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25 % การบริหารจัดการต้องปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานรวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด
ผู้ประกอบการ 41% ระบุว่า มีการลดการจ้างงานมากกว่า 25% แล้ว ส่วนอีก 38% บอกว่า จะพยายามคงสภาวะการจ้างงานเดิมแต่คงไม่ได้นาน
ผู้ประกอบการ 39% ระบุว่า มีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ 8% บอกว่า มีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือน
มาตรการกระตุ้นการจับจ่าย “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ผู้ประกอบการ 56% คาดหมายว่า อาจจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ 38% คาดหมายว่า ยอดขายคงเดิมเพราะกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ดได้ใช้เพิ่มเติมจาก G-Wallet