ดีเซลจ่อขึ้น! มาตรการลดภาษีน้ำมันนับถอยหลังหมดอายุ 20 ก.ค.นี้

289
0
Share:
ดีเซล จ่อขึ้น! มาตรการลด ภาษีน้ำมัน นับถอยหลังหมดอายุ 20 ก.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจ ต่อกรณีที่ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 66 โดยมีความกังวลว่าระยะเวลาดังกล่าวอาจจะยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศและติดสินใจเกี่ยวกับมาตรการ จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร จนกระทบต่อค่าครองชีพและเศรษฐกิจในภาพรวม

โดยที่ผ่านมารัฐบาล ได้ดูแลราคาดีเซล ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นมากในปี 2565 ได้ขยับเพดานราคาดีเซลจากไม่เกินลิตรละ 30 บาท ขึ้นมาเป็นลิตรละ 32 บาท เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 65 และขึ้นมาสูงลุดที่ 35 บาท ก่อนที่จะทยอยปรับลดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 66 จนล่าสุดปัจจุบันคงราคาที่ 32 บาท

รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้ลดภาษีดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 ถึงปัจจุบันรวม 7 ครั้ง กระทบรายได้ของกรมสรรพสามิต 158,000 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 20 ก.ค. 66 เป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาลใหม่จึงมีความกังวลถึงความต่อเนื่องของการดูแลราคาดีเซลเพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลนี้ที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลนี้ยังรับผิดชอบอยู่ไม่ใช่หรือ

“เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ได้ถามไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร แนวโน้มน่าจะลดลง ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่เข้ามา และทุกครั้งรัฐบาลก็แก้ปัญหาให้ตลอดไม่ใช่หรือ”

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจต่อกรณีการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 66 โดยกังวลว่าช่วงดังกล่าวอาจยังไม่มีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศและติดสินมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งจะทำให้ราคาดีเซลขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร จนกระทบค่าครองชีพและเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล โดยมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลครั้งที่ 7 ที่รัฐบาลอนุมัติเพิ่งเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 66 เหลือเวลาอีก 2 เดือนจึงจะสิ้นสุดมาตรการ ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาแนวทางมารองรับเพื่อให้ผลกระทบเกิดกับประชาชนน้อยที่สุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าตามความเหมาะสมแล้วมาตรการที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ หรือทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมีนัยสำคัญนั้น ควรต้องให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณา แต่รัฐบาลรักษาการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องดูสถานการณ์แต่ละช่วงว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อดูแลผลกระทบให้เกิดกับประชาชนน้อยที่สุด ไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและเป็นไปตามกฎหมาย

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแนวทางรองรับกับมาตรการที่จะสิ้นสุดปลายเดือน ก.ค.นี้ โดยให้พิจารณาหลายปัจจัยประกอบ เช่น สถานการณ์และแนวโน้มราคาน้ำมันโลก ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบาย ซึ่งแนวทางไหนดำเนินการได้โดยอำนาจของหน่วยงานหรือส่วนใดที่ต้องหารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้จัดทำแนวทางเสนอนายกรัฐมนตรี

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีราชกิจจานุเษกษา ลงประกาศ ไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้ ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เนื่องจากยังมีเวลาอีก 2 เดือน ดังนั้น ขอให้ใกล้ถึงเวลาก่อนจึงค่อยว่ากันอีกที โดยที่ผ่านมาราคาน้ำมันลดลงมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ราคาผู้บริโภคในหมวดเชื้อเพลิงและการเดินทางปรับลดลง โดยกระทรวงการคลังยอมสูญเสียรายได้เพื่อช่วยภาคขนส่งและประชาชน แต่หลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงขนาดไหน ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารได้ โดยมีเงินเข้ากองทุนและมีกรอบวงเงินกู้

“ฐานะกองทุนน้ำมันดีขึ้นเพราะราคาน้ำมันลดลง จึงเก็บเงินเข้ากองทุนได้ และราคาน้ำมันที่ลดลงอยู่บนพื้นฐานที่กระทรวงการคลังลดภาษีให้ 5 บาท ขณะเดียวกันหากจะลดภาษีต่อต้องดูกฎกติกาของรัฐธรรมนูญด้วยว่ารัฐบาลรักษาการทำอย่างไรได้ เพราะหากจะดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณต้องขอ กกต.เพราะมีผลผูกพันกับรัฐบาลต่อไป โดยทั้งหมดขอดูสถานการณ์อีกที”

ขณะที่นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสรุปสมมติฐาน (Scenario Analysis) เสนอทั้งรัฐบาลรักษาการ และรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ทราบทิศทางว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งปัจจุบันราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 32 บาท

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ ได้ติดตามราคาดีเซลถึงสิ้นปี 2566 ประเมินว่าหากราคาดีเซลตลาดโลกอยู่ที่ระดับปัจจุบันบาร์เรลละ 90 ดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ ได้เตรียมสมมติฐาน 2 แนวทาง ได้แก่

1. กรณีนโยบายภาครัฐให้ขึ้นภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท หลังวันที่ 20 ก.ค.2566 จะรักษาระดับราคาดีเซลลิตรละ 32 บาท ด้วยการลดจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 5 บาท โดยกองทุนสำหรับดีเซลจะเหลือลิตรละ 43 สตางค์
2. กรณีรัฐบาลต้องการให้ลดราคาดีเซลต่ำกว่าลิตรละ 32 บาท รัฐบาลต้องใช้นโยบายภาษีเข้ามาร่วมดูแลด้วย โดยแทนที่จะขึ้นทันทีลิตรละ 5 บาทต่อลิตร ก็จะต้องทยอยขึ้น อาจจะเป็น 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งแนวทางนี้ กองทุนน้ำมันฯ จะร่วมดูแล เช่น หากต้องการเห็นดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็ต้องลดภาษีต่อ อีก 2 บาทต่อลิตร โดยไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานใช้กลไกดูแลราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (ภาคครัวเรือน) LPG ผ่านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) โดยที่ผ่านมาจากวิกฤติโควิดและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งไทยนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูงโดยเฉพาะน้ำมันกว่า 90% ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องใช้เงินอุดหนุนจนติดลบเกือบจะ 1.4 แสนล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานกำลังกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้คู่ค้ามาตรา 7 โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาท จากวงเงินที่กระทรวงการคลังอนุมัติค้ำประกันเงินกู้ให้ 1.5 แสนล้านบาท โดยสถานะกองทุนน้ำมันวันที่ 28 พ.ค.2566 ติดลบอยู่ที่ 69,427 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 22,920 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,507 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าบัญชีน้ำมันแล้ว

“ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯ ได้กู้เงินมาแล้ว 5 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างทะยอยกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ โดยคาดว่ากลางเดือน มิ.ย.2566 จะได้เงินกู้ก้อนใหม่อีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงจากก่อนที่่กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักเงินอุดหนุนถึง 14 บาทต่อลิตร เป็นเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ย 5 บาทต่อลิตร ราวเดือนละ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยราคาดีเซลตลาดโลกอ่อนตัวลงช่วงต้นเดือน พ.ค.2566 ที่เฉลี่ย 86.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 10.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเดือน เม.ย.2566 ดังนั้น คงจะต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นปัจจัยสำคัญ”

แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะกู้เงินเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ และแบ่งจ่ายหนี้ให้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 แต่การกู้เงินก็มีขีดจำกัด และต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกเดือน ดั้งนั้น กระทรวงพลังงานจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางในการรับมือหลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในวันที่ 20 ก.ค.2566 ว่าในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลรักษาการจะทำเรื่องต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลให้อีกหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องดูข้อกฏหมายอย่างรอบคอบ