ดึงเข้าระบบ! จับตาแพ็กเกจแบตเอ็มจี เครือซีพี ดึงลงทุนต่างชาติหนุนอุตสาหกรรมอีวี

191
0
Share:

จากกรณีคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

2.ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้

3.ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg

4.ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570 โดย คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป

นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพี จำกัด ค่ายเอ็มจี (MG) เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลดึงนักลงทุนต่างชาติที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ เข้ามาลงทุนในไทย อาทิ ซีเอทีแอล หรือ Contemporary AmperexTechnology Co., Ltd (CATL) ผู้ผลิตแบตอีวีชั้นนำของโลกของจีน โดยให้เข้ามาลงทุนร่วมกับกลุ่ม ปตท. เพราะการลงทุนระดับนี้ใช้เงินลงทุนสูง หากให้เอกชนต่างชาติเข้ามาแบบรายเดียวอาจล่าช้า หรืออาจไม่มา

นอกจากนี้ ตามมาตรการแพ็กเกจอีวี 3.0 กำหนดให้ปี 2567 ค่ายรถยนต์ต้องผลิตชดเชยอัตรา 1 ต่อ 1 และปี 2568 ผลิตชดเชยอัตรา 1 ต่อ 2 ซึ่งเอ็มจีเริ่มผลิตชดเชยแล้ว แต่ห่วงตลาดในประเทศจะไม่สามารถรองรับการผลิตหลังจากนี้ได้ เพราะกำลังซื้ออาจเริ่มลดลง จากความต้องการยังจำกัด ประกอบกับผลจากหนี้ครัวเรือน ทำให้ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติ เห็นจากยอดขายรถกระบะได้รับผลกระทบรุนแรง หากค่ายรถยนต์จะเลือกส่งออกติดว่าต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% หากไม่มีการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ก็ส่งออกไม่ได้ กระทบในภาพรวม

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนคนไทยผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของบีโอไอ ที่คาดว่าบีโอไอจะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล เบื้องต้นบอร์ดบีโอไอจะใช้กองทุนฯสนับสนุนผู้ลงทุนแบตอีวีแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสนับสนุนระดับใด 30-50% หรือไม่ ต้องลงทุนรูปแบบไหน แต่ยืนยันว่าอีเอสามารถผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ได้ หากรัฐบาลสนับสนุน และงบประมาณครั้งนี้จะคุ้มค่ามากกว่าการนำเงินไปอุดหนุนการนำเข้าอีวี แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตอีวีเข้าลงทุนไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย 1.โรงงาน HASCO-CP BATTERY SHOP บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มจี 2. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA 3.บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กับเทคโนโลยี เบลด แบตเตอรี 4.บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด 5.บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด ผลิตร่วมกับ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด(เครือปตท.) 6.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด และ7.ซีเอทีแอล หรือ Contemporary AmperexTechnology Co., Ltd (CATL) ผู้ผลิตแบตอีวีชั้นนำของโลกของจีน ร่วมกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เครือปตท.