ตกงานพุ่ง! นักศึกษาจบ 2 คณะตกงานพุ่ง ชี้เด็กจบใหม่เกือบ 200,000 คนเตะฝุ่น

303
0
Share:
ตกงาน พุ่ง! นักศึกษา จบ 2 คณะตกงานพุ่ง ชี้ เด็กจบใหม่ เกือบ 200,000 คนเตะฝุ่น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงาน ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 มีการขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 4.3% โดยสาขาที่ขยายตัวได้ดี คือ การผลิต การค้าส่งค้าปลีก และ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ในแง่แรงงานภาคการท่องเที่ยวยังมีปัญหา

สำหรับชั่วโมงการทำงานหลัก ปรับตัวดีขึ้น ภาพรวมอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งในส่วนภาคเอกชนอยู่ที่ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 หรือก่อนโควิด ก็อยู่ระดับเดียวกัน แสดงว่าขณะนี้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ มีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นแล้ว

ผู้เสมือนว่างว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.2 ล้านคน และผู้ทำงานล่วงเวลาก็มีมากขึ้นที่ 6.8 ล้านคน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.3 ล้านคน ด้านค่าจ้างแรงงาน แม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัวลงเล็กน้อย

ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 1.23% ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบ ก็ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 มาอยู่ที่ 2% “การว่างงานลดลง ทั้งกรณีผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และ ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ก็ปรับลดลง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564” นายดนุชากล่าว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการว่างงานจากระดับการศึกษา พบว่า แม้การว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ก็ต้องจับตาที่ระดับอุดมที่มีอัตราสูงที่สุดที่ 2.49 % หรือ กว่า 185,410 คน แม้ลดลงแต่ยังอยู่ระดับที่อาจต้องมีการเข้าไปดูแลเพิ่มเติม

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ผู้ว่างงานอุดมศึกษา ประมาณ 66% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน นั่นหมายถึงว่าเป็นเด็กจบใหม่ ส่วนอีก 33.4% เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ที่ว่างงานระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จบสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ประมาณกว่า 60% ที่เหลือเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เป็นความต้องการ ประมาณ 10%

สำหรับการปรับเงินเดือนเด็กจบใหม่ ถ้าขึ้นเงินเดือนก็จะกระทบทั้งเอกชนและภาครัฐ อย่างคราวที่แล้วที่ขึ้นมาเป็น 15,000 บาท รัฐบาลก็ต้องปรับฐานขึ้นมา ก็เป็นภาระงบประมาณ ตอนนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ผลพวงที่เกิดจากวิกฤตโควิด ยังมีข้อจำกัดในแง่ฐานะการคลัง ก็ต้องดูในแง่วินัยการเงินการคลังที่จะต้องเคร่งครัดในช่วงถัดไป

กรณีที่มีบางพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียง โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันนั้น เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งสิ่งที่รัฐทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ พยายามทำปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือของแรงงาน

ดังนั้น หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องปรับค่าแรงสำหรับแรงงานฝีมือขึ้นไปด้วย เพื่อให้เกิดส่วนต่าง ระหว่างคนที่มีทักษะกับคนที่ไม่มีทักษะ แต่ภาระก็จะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการ