ตรึงข้ามปี! ศูนย์วิจัย EIC ชี้แบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ยนานถึงปี 2565 หมดหวังลงดอกเบี้ย อีก 2 ปีไทยถึงฟื้นไปเหมือนก่อนเกิดโรคโควิด-19

253
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และ 2022 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ ขณะที่โอกาสของการลดดอกเบี้ยในระยะสั้นมีน้อยลง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การระบาด และพัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจน

เมื่อวานนี้ 29 กันยายน 2564 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวที่ 0.7% และ 3.9% ในปีหน้า โดยการฟื้นตัวจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ หลังมีพัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2021

EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีมาก ทั้งนี้ EIC ประเมินว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2019 จนกระทั่งช่วงกลางปี 2023

ขณะที่โอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีน้อยลง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด และเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่จะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ ผลโหวตคงดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอเอกฉันท์ และการสื่อสารของ กนง. ที่ว่า “มาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ” ก็ทำให้ EIC มองว่า โอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และปีหน้ามีน้อยลง

EIC คาดว่า ธปท. จะยังให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านการปรับมาตรการทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นในระยะข้างหน้า

ด้านภาวะการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปัจจัยอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีออกมามากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทที่ปรับอ่อนค่าลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดการเงินไทย และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ขาดดุลต่อเนื่อง ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินไทยลงได้บ้าง