ตลท. ประเมินปี 66 มูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วโลกสูงถึง 8 ล้านล้านดอลล์

266
0
Share:
ตลท. ประเมินปี 66 มูลค่าความเสียหายจาก อาชญากรรมไซเบอร์ ทั่วโลกสูงถึง 8 ล้านล้านดอลล์

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่ SET Note เรื่อง “Cyber Attack โจรที่ติดตามตัวไปทุกที่กับ Cyber Security ที่ทุกคนต้องรู้” โดยช่วงต้นปี 2566 ประเทศไทย มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 61.21 ล้านคน หรือ 85.3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 64.4% และคนไทยใช้เวลาในระบบอินเทอร์เฉลี่ยคนละ 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าคนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ต สูงสุดติด 10 อันดับแรกของโลก และมีพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตผ่านมือมากยิ่งขึ้น หรือสามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์รุนแรงขึ้น เสมือนเปิดประตูหน้าหาข้อมูลและโอกาส แต่หากขาดความระมัดระวังก็เสมือนเปิดประตูหลังต้อนรับโจร

ทั้งนี้พบว่า มูลค่าความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลก มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งหน่วยงานทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการปัญหาด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ สอดคล้องกับจากการสำรวจของ World Economic Forum ปีล่าสุดที่เปิดเผยว่า 95% ของผู้นำองค์กรยอมรับว่าความปลอดภัยด้านไซเบอร์มีความสำคัญ ควรนำไปพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร

ขณะที่ในประเทศไทย พบว่าภัยคุกคามของอาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือน มี.ค. – ธ.ค. 2565 หรือในช่วง 10 เดือนแรกที่เปิดระบบให้บริการประชาชน พบว่า มีผู้เข้ามาแจ้งความ 163,091 คดีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 27,305 ล้านบาท หรือเสียหายสูงถึง 91 ล้านบาทต่อวัน โดยกว่า 50% ของมูลค่าความเสียหาย หรือประมาณ 15,800 ล้านบาท เป็นการหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผ่านทางออนไลน์ด้วยวิธีการต่างๆ รองลงมาคือ คดีเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า การปล่อยกู้นอกระบบผ่านแอพพลิเคชั่น การหลอกลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1,230 ล้านบาทและอันดับที่ 3 คือ แฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ การคุกคามทางเพศ หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศ

สำหรับความเสียหายในระดับองค์กรหรือหน่วยงานตามการรายงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศปช.) เปิดเผยว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 2564–30 ก.ย. 2565 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 551 เหตุการณ์ โดย 2 ใน 3 เป็นการโจมตีโดยการแฮกเว็บไซต์ (Hacked website) ของหน่วยงานราชการและหน่วยงานสำคัญ อาทิ การขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลหรือระบบงาน การรั่วไหลของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งบางกรณีใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง