ตลท.เผยยังไม่ตัดสินใจต่ออายุ Short Sell – Ceiling & Floor

562
0
Share:

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนส.ค.2563 ว่าสำหรับเกณฑ์เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ชั่วคราว ทั้งเกณฑ์ราคาเสนอขายชอร์ต (Short Sell) และเกณฑ์ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ ยังไม่สามารถสรุปอย่างชัดเจนได้ว่าจะพิจารณาขยายต่อเวลาออกไปหรือไม่ เนื่องจากต้องดูความผันผวนของตลาดหุ้นไทยประกอบกัน
.
ปัจจุบันยอมรับว่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทยยังคงมีอยู่ ซึ่งเคลื่อนไหวอยุู่ในระดับ 20-30% ต่อปี แต่เป็นระดับที่ตลาดเริ่มยอมรับได้(New Normal) ซึ่งหากภาพรวมตลาดยังเคลื่อนไหวระดับดังกล่าวจะยุติการใช้มาตรการชั่วคราวลงในสิ้นก.ย.นี้ ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวช่วงระดับดังกล่าวมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ 15%
.
อย่างไรก็ตามหากตลาดยังมีความผันผวนสูง และมีเหตุการณ์รุนแรงตลาดยังมีโอกาสใช้มาตรการดังกล่าวต่อ และหากรุนแรงกว่าที่คาดตลาดฯ ยังมีมาตรการอีก 4-5 รายการเพื่อช่วยลดความร้อนแรงลง เช่น การปรับอัตรามาร์จิ้น , การปรับเปลี่ยนเวลาซื้อขาย เพื่อรองรับเป็นต้น ทั้งนี้มาตรการชั่วคราว Short Sell และ Ceiling & Floor ดังกล่าวอาจเป็นมาตรการถาวร ซึ่งต้องพิจารณาสภาพตลาดและกฎระเบียบประกอบกันซึ่งเป็นโจทย์ระยะยาวที่ตลาดฯ ต้องพิจารณา
.
โดยความผันผวนที่สูงในตลาดหุ้นไทย มันอาจจะเป็นการผันผวนปกติแล้วหรือ New Normal เห็นจากความผันผวนก่อนหน้าโควิดอยู่ที่ระดับ 15% ต่อปี พอเกิดเหตุการณ์ช่วงมี.ค.เคยผันผวนถึง 100% และลงมาอยู่ระดับ 20-30% ซึ่งปัจจุบันยังเป็นระดับนี้อยู่
.
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค. 63 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ทำให้ SET Index ปรับลดลง 17.0% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า
.
โดยพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก นอกจากนี้ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่ได้อานิสงค์จากการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น
.
ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในส.ค. 63 อยู่ที่ 56,512 ล้านบาท และหากพิจารณาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 63 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 66,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนบุคคลในประเทศ มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ 44.09% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
.
ด้าน Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ระดับ 22.2 เท่า และ 21.8 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 17.2 เท่า และ 18.6 เท่าตามลำดับ ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.89%