ตลท.เสนอรัฐขอขยายเวลากองทุนเพื่อการออมพิเศษ(SSFX)

872
0
Share:

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท. กล่าวถึงกองทุนเพื่อการออมพิเศษ หรือ SSFX ที่สิ้นสุดการขายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า หลังสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ได้เสนอกับภาครัฐบาลเพื่อขอขยายเวลาในการซื้อขายออกไป ทางตนเองมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าควรต่อเวลากองทุนดังกล่าว
.
เนื่องจากช่วงเวลาที่เปิดขายก่อนหน้านี้มีระยะสั้นเกินไป และอยู่ในภาวะนักลงทุนยังไม่แน่นอนกับสภาพคล่องและการออม อย่างไรก็ตามมองว่าการออมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้คนออมในระยะยาวเป็นหน่วย 10 ปี ซึ่งกรอบระยะเวลาในการขยายการซื้อขาย และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องขึ้นกับภาครัฐบาลว่าจะพิจารณาอย่างไรอีกครั้ง
.
สำหรับทิศทางการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือ หุ้น IPO ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไปคาดว่าจะเริ่มเห็น IPO เข้าตลาดหุ้นมากขึ้น จากสภาวะตลาดที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เห็นได้ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนหมวดหุ้นจากตลาด mai เข้ามาอยู่ใน SET และการซื้อขายหุ้น IPO ของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ที่ได้รับกระแสการตอบรับอย่างดี
.
นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดรูปแบบสังคม New Normal ซึ่งเป็นผลบวกต่อบริษัทที่จะทยอยเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บางราย เช่น บริษัทที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข , สุขอนามัย , การดูแลรักษา ที่ได้ประโยชน์จากสังคมดังกล่าว
.
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) สิ้นเดือนมิ.ย.2563 ปิดที่ 1,339.03 จุด ลดลง 0.3% จากเดือนก่อน และลดลง 15.2% จากสิ้นปีก่อน แต่หากพิจารณาผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์จะเพิ่มขึ้น 2.8% และลดลง 17.8% ตามลำดับ
.
โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนมิ.ย.63 ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 77,359 ล้านบาท เพิ่ม 27.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นเดือนที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่สูงที่สุดในรอบ 30 เดือน และสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติการณ์
.
ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 68,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้ลงทุนในประเทศเป็นหลัก และการซื้อขายสูงกว่าผู้ลงทุนประเภทอื่นๆ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 48.76% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
.
ด้านกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 22,381 ล้านบาทในตลาดหลักทรัพย์ไทยซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดอื่นในภูมิภาค ทำให้ในครึ่งแรกปี 2563 ผู้ลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ 215,736 ล้านบาท ขณะที่ผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง และกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้
.
โดย Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 20.5 เท่า และ 18.7 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า และ 16.0 เท่าตามลำดับ
.
ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.70% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.15% และตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงเป็นผู้นำของภูมิภาคในด้านมูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563
.
สำหรับภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนมิ.ย.63 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 498,244 สัญญา เพิ่มขึ้น 56.6% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจาก SET50 Index Futures และ Single Stock Future และในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 498,402 สัญญา เพิ่มขึ้น 31.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน