ตลาดเบียร์ฟื้นรับไฮซีซั่นโตแตะ 2 แสนล้านบาท อานิสงส์ธุรกิจแอลกอฮอลล์จัดอีเวนต์ใหญ่

386
0
Share:
ตลาดเบียร์ ฟื้นรับไฮซีซั่นโตแตะ 2 แสนล้านบาท อานิสงส์ ธุรกิจ แอลกอฮอลล์ จัดอีเวนต์ใหญ่

นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือไทยเบฟ เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดเบียร์ในช่วง 10 เดือน ปี 65 มีมูลค่าอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และมีปริมาณการดื่มที่ประมาณ 1,800-1,900 ล้านลิตร ซึ่งเริ่มเติบโตขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือน ก.ค. จากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผับ บาร์ เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ รวมไปถึงการดื่มในช่วงฟุตบอลโลก และเริ่มเข้าสู่ช่วงสิ้นปีที่มีการสังสรรค์ คาดว่าตลาดจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและปี 66 กลับมาฟื้นตัวได้ปกติเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ปริมาณการดื่ม 2,000 ล้านลิตรต่อปี

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตลาดปัจจุบันที่มีเครื่องแอลกอฮอล์หลากหลายมากขึ้น แต่ตลาดเบียร์ยังคงเป็นตลาดเดิม ๆ และไม่มีความน่าตื่นเต้น จึงมองว่าหากยังไม่มีผู้เล่นรายใดออกมาทำการตลาดและสร้างสีสันให้มีนวัตกรรมที่สร้างความแปลกใหม่ อาจทำให้กลุ่มลูกค้าเดิมเปลี่ยนใจหันไปดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่นแทน แม้ปัจจุบันสัดส่วนคนไทยที่เลือกดื่มเบียร์มีมากถึง 60% ของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด

ดังนั้น ไทยเบฟ จึงได้เปิดตัว ช้าง อันพาสเจอไรซ์ เบียร์น้องใหม่ เจาะระดับพรีเมียม ราคา 500 บาท/ขวด 1.5 ลิตร เจาะคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ โดยในเบื้องต้น ทำการตลาดผ่านร้านอาหารและโรงแรม ปักหมุด 2 จังหวัดแรก ได้แก่ เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีไฮซีซั่นข่วงปลายปี และที่ผ่านมาช้างได้รับการตอบรับดีจากทั้งสองจังหวัด โดยมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ1

ขณะที่ก่อนหน้านี้ช้างเคยสร้างสีสันผ่านออกผลิตภัณฑ์ใหม่ลงตลาด หนุนให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นเต้นในการดื่มเบียร์ เช่น ช้างโคลด์ บรูว์ เบียร์ไทยที่ผลิตจากมอลต์ 100%, ช้างเอสเปรสโซ ลาร์เกอร์เบียร์ผสมกับกาแฟสกัด เป็นต้น

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ “ไลเกอร์” “อัลเลมองท์” ในฐานะนายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดคราฟต์เบียร์ในไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว และทยอยกลับมาทำตลาดกันอีกครั้ง และปรับราคาให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเฉลี่ย 170 บาท/กระป๋อง โดยมีปัจจัยที่น่าจับตามองของตลาดคราฟต์เบียร์ คือ เรื่องความผันผวนของค่าเงิน จะเป็นผลกระทบต่อเซ็กเมนต์คราฟต์เบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีต้นทุนสูงขึ้นได้

ส่วนกรณีผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำตลาดผลิตภัณฑ์เบียร์อันพาสเจอไรซ์ มาแข่งขันในตลาดภาคเหนือ มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเซ็กเมนต์คราฟต์เบียร์ ของรายย่อยไทยที่มีการทำตลาดในภูมิภาคนี้พอสมควรด้วยถือเป็นขนาดที่ยังเล็กมาก แต่น่าจะเป็นการเข้ามาท้าชิงพื้นที่การตลาดของแบรนด์คู่แข่งที่ครองตลาดในภูมิภาคนี้ก่อนหน้ามากกว่า และมองว่าเป็นการสร้างสีสันและความเคลื่อนไหวในการทำตลาดผ่านแบรนด์สินค้าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่