ตะลึงไทยมีหนี้มากสุดอันดับ 1 ใน 5 ชาติชั้นนำอาเซียน แถมเศรษฐกิจโตต่ำสุดที่ 1.9%

67
0
Share:
ตะลึง ไทย มี หนี้ มากสุดอันดับ 1 ใน 5 ชาติชั้นนำอาเซียน แถม เศรษฐกิจ โตต่ำสุดที่ 1.9%

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอเอฟ (IIF) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่อยู่ในเครือธนาคารโลก เปิดเผยรายงานการติดตามหนี้ทั่วโลกรายเดือน หรือ Global Debt Monitor ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 พบว่า สถานการณ์หนี้ทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่าที่ 313 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 11,268 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 540 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เมื่อเทียบแบบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนหนี้ต่อตัวเลขมูลค่าเศรษฐกิจโลกปี 2023 ลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แต่กลับลดลงอย่างชะลอตัวในปีที่ผ่านมา สาเหตุจากการลดลงของสัดส่วนหนี้ต่อตัวเลขจีดีพีในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก

ไอเอเอฟ เปิดเผยในส่วนสถานการณ์หนี้ของประเทศไทย พบว่าสัดส่วนหนี้ทั้งหมดของประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ขึ้นมาอยู่ที่ 264.8% ต่อตัวเลขจีดีพีประเทศไทย ซึ่งแต่ละภาคส่วนมีสัดส่วนหนี้เทียบดับจีดีพีเรียงตามลำดับ ประกอบด้วย อันดับ 1 หนี้ครัวเรือน 91.6% อันดับ 2 หนี้บริษัทเอกชน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 86.2% อันดับ 3 หนี้รัฐบาล 54.2% ซึ่งไม่นับรวมหนี้รัฐวิสาหกิจ และอันดับ 4 หนี้ภาคการเงินหรือสถาบันการเงิน 32.8%

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศชั้นนำในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ปรากฏว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ทั้งหมดต่อตัวเลขจีดีพีที่ 264.8% นั้น ขึ้นอันดับ 1 ของอาเซียน ตามด้วยอันดับ 2 มาเลเซียอยู่ที่ 251.3% อันดับ 3 เวียดนามอยู่ที่ 170.3% อันดับ 4 ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 105.1% และอันดับ 5 อินโดนีเซียอยู่ที่ 85.8%

เมื่อนำสัดส่วนหนี้ประเทศในปี 2023 ไปเทียบกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีปี 2023 ของแต่ละ 5 ประเทศชั้นนำในอาเซียน จะพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ทั้งหมดต่อจีพีดีที่ 264.8% ซึ่งมากที่สุดอันดับ 1 และมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพีต่ำที่สุดใน 5 ชาติชั้นนำอาเซียนโดยเติบโตเพียง 1.9% สำหรับฟิลิปปินส์ที่มีเศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุดอันดับ 1 ที่ 5.6% กลับมีภาวะหนี้ทั้งหมดต่อจีดีพีอยู่ในอันดับ 4 หรือรองสุดท้าย ประเทศอินโดนีเซียขยายตัวมากอันดับ 2 ที่ 5.05% มีภาวะหนี้น้อยที่สุดอยู่ในอันดับที่ 5 ประเทศเวียดนามขยายตัวมากอันดับ 3 ที่ 5.05% มีภาวะหนี้อันดับที่ 3 ประเทศมาเลเซียขยายตัวมากอันดับ 4 ที่ 3.7% มีภาวะหนี้มากอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากประเทศไทยที่มีหนี้มากที่สุด

ไอไอเอฟ เปิดเผยต่อไปว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ทั้งหมดต่อตัวเลขจีดีพีที่ 264.8% นั้น พบว่ามีสัดส่วนหนี้อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยหนี้ต่อจีดีพีของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market Countries ที่ 255.4% อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ทั้งหมดของประเทศไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหนี้โลกซึ่งอยู่ที่ 331.2% ของจีดีพีโลก

รายงานดังกล่าว เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจเพิ่มความผันผวนของตลาด และกระตุ้นการจัดหาเงินทุนที่เข้มงวดสำหรับประเทศที่พึ่งพาการกู้ยืมจากภายนอกค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกกำลังพิสูจน์ความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งนำไปสู่การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนความต้องการกู้ยืมมีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ในปี 2567 เนื่องจากปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีทั้งประเทศที่ 603.5% ฮ่องกงมีหนี้ที่ 564.7% ของจีดีพี สิงค์โปร์มีหนี้ที่ 513.9% (แม้สิงค์โปร์จะตั้งอยู่ในกลุ่มอาเซียน แต่ถูกจัดลำดับสัดส่วนหนี้ต่อประเทศนอกกลุ่มชาติอาเซียน เรื่องจากถูกจัดสถานะประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว) จีนมีหนี้ที่ 359.8% ของจีดีพี และเกาหลีใต้มีหนี้ที่ 550.3% ของจีดีพี