ตีกลับแผนประกันราคายางไม่ต่ำกว่า 60 บาท/ก.ก.

893
0
Share:

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยางว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินโครงการประกันราคายางพารา เพราะต้องการรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และแหล่งเงินทุน โดยได้ให้การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. สรุปแผนอีกครั้งเพื่อพิจารณาภายในวันที่ 21 ส.ค. ร่วมกับคณะกรรมการบอร์ดการยาง หรือ บอร์ดกยท.
.
สำหรับข้อตกลงรายละเอียดโครงการประกันราคาเกษตรกรสวนยาง ที่ประชุมสรุปเบื้องต้นเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับการชดเชยรายได้จากการจำหน่ายยางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (ก.ก.) ละ 60 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ส่วนยางแผ่นดิบคุณภาพดี 58 บาท/ก.ก. น้ำยางสด 56.50 บาท/ก.ก. ซึ่งมาตรการประกันราคาดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น
.
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการอื่นๆ อีก เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาวได้ โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลให้น้อยที่สุด และขอภาครัฐในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ อาทิ กระทรวงคมนาคม มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น แผงกั้นจราจร (Barrier) ทำให้สามารถผลักดันยางพาราจำนวน 800,000 ตัน ออกตลาดได้ และกรมชลประทานจะนำผลผลิตยางพารามาพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน อาทิ บล็อกผักตบชวา ฝายยางพารา โดยจะมุ่งเน้นแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการระบายยางออกจากตลาดให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้านำยางออกมาใช้ในภาครัฐ 1 ล้านตัน
.
โดยมีรายงานว่าหากรัฐบาลจะอนุมัติมาตรการดังกล่าว จะต้องใช้งบถึง 3.7 หมื่นล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรไว้ 3 พืช ได้แก่ ข้าว ยาง ปาล์ม ประมาณ 1.69 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การที่จะประกันราคายางที่ 60 บาท/ก.ก. รายละไม่เกิน 25 ไร่ อาจเป็นงบประมาณที่สูงเกินไป จึงให้กยท. ไปคิดสูตรการชดเชยราคายางพารามาระหว่าง 10-25 ไร่ต่อราย รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์และข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จึงยังต้องมีการสรุปอีกครั้ง โดยให้กยท. รวบรวมและนำมาเสนอบอร์ดกยท. ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ หากผ่านการอนุมัติจึงจะสามารถเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป