ตุนเสบียง! หมอธีระชี้มีไทยมีผู้ป่วยโควิดรุนแรงมากที่ 1 อาเซียน จังหวัด-เกาะท่องเที่ยวจะเห็นยอดติดพุ่งปลายสิงหาคม

478
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับไทยไม่สามารถตัดวงจรการระบาดโควิด-19 ประขาชนเตรียมรับมือ 4 ด้าน มีดังนี้

…สำหรับสถานการณ์ของไทยเรา ตอนนี้มียอดติดเชื้อรวมอยู่ที่อันดับ 46 ของโลก อีก 2-3 วันจะแซงคาซักสถานขึ้นเป็นอันดับ 45 ได้

ไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรง (Severe Cases) และวิกฤติ มากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก เป็นรองเพียงอินเดีย อเมริกา บราซิล โคลอมเบีย อิหร่าน และเม็กซิโก

แต่หากดูเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…เราเป็นอันดับ 1…

หากประเมินสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ด้วยมาตรการที่ดำเนินการอยู่ สิ่งที่ควรเราควรเตรียมรับมือ มีดังนี้

หนึ่ง การติดเชื้อใหม่จะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั้งนี้ต่างจังหวัดในเขตเมืองจะมีมากขึ้น

สอง จังหวัด/เกาะ ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น การระบาดจะเริ่มเห็นเพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มจะชัดเจนมากช่วงปลายสิงหาคม โดยปัจจัยหลักเกิดจากกิจกรรมกิจการต่างๆ ที่มีมากขึ้นในพื้นที่ ทำให้พบปะกัน สัมผัสกัน สังสรรค์กัน กระตุ้นให้การติดเชื้อแฝงในชุมชนที่มีอยู่เดิมนั้นขยายวงขึ้นนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัวให้เข้มแข็ง ปรับรูปแบบการดำเนินกิจการกิจกรรมต่างๆ ให้เน้นความปลอดภัย

สาม ด้วยจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันมีมาก ระบบการดูแลไม่ว่าจะที่บ้าน ที่พักคอย ที่รพ.สนาม หรือที่โรงพยาบาล ไม่มีทางเพียงพอ ดังนั้นบทบาทของชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะประคับประคองดูแลคนในพื้นที่ ปัญหาการติดเชื้อภายในที่อยู่อาศัยจะยังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเมินแล้วคาดว่า shortcut ที่จำเป็นต้องทำคือ การเปิดวัดและโรงเรียนเพื่อรับผ่องถ่ายจากบ้านมาอยู่ที่นี่แทน จึงจะมีโอกาสลดทอนการแพร่เชื้อภายในบ้านได้ โดยอาจต้องขอกำลังพระภิกษุและคุณครูมาเป็นผู้ช่วยดูแลกำกับหรือประสานงาน

สี่ เตรียมเสบียงและสิ่งของจำเป็นไว้ในบ้าน ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้านไว้สัก 2-4 สัปดาห์ ก็จะเป็นประโยชน์ยามฉุกเฉิน การทบทวนสิ่งสำคัญ ข้อมูลสำคัญส่วนตัว และบันทึกไว้ในที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย หากไม่สบายและมีข้อจำกัดในการดูแลรักษาตัว ก็จะสามารถส่งต่อให้กับสมาชิกในครอบครัวได้โดยไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วง

ห้า วางแผนการใช้จ่าย ระมัดระวังเรื่องการลงทุน หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินโดยไม่จำเป็นจริงๆ และระวังมิจฉาชีพที่จะหลอกลวงด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการค้าขาย การโฆษณาเกินจริง การล่อด้วยกิเลสให้เข้าถึงการรักษา หยูกยา รวมถึงวัคซีนต่างๆ