ต้องปฏิรูป! สภาพัฒน์แนะปฏิรูปโครงสร้างภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ-โกยรายได้เข้ารัฐเพิ่ม

221
0
Share:
ต้องปฏิรูป! สภาพัฒน์ แนะ ปฏิรูป โครงสร้างภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ-โกยรายได้เข้ารัฐเพิ่ม

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ไทยอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษี เนื่องจากปัจจุบันการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 13% ต่อ GDP ซึ่งถ้ามีสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็ต้องหาทางเก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่ากระทรวงการคลังจะปรับโครงสร้างอย่างไร

โดยปัญหาของไทยคือภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดาเก็บได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก จึงต้องมีการแก้ปัญหาให้คนเข้าระบบฐานภาษี ขณะเดียวกันโครงสร้างภาษีก็ต้องไม่เหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะคนรายได้ปานกลางที่มีค่าลดหย่อนภาษีน้อย นอกจากนี้ อาจมีการเก็บภาษีอื่นๆ เพื่อรองรับภาระของรัฐ ในแง่ของสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วๆ นี้

ส่วนการเก็บภาษี Capital Gain ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเก็บในรูปแบบใด และอัตราเท่าไร อย่างไรก็ดี หากจะนำมาปฏิบัติต้องใช้เวลาผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน กว่าจะมีการออกมาตรการภาษี โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตลาดทุน ต้องศึกษา และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังของไทยมีการเก็บตาม Transaction ซึ่งก็มีเสียงเรียกร้องออกมาค่อนข้างมาก

ด้าน น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นรายได้และเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่สุด โดยในปี 2564 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วน 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.1 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2546 เป็น 6.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 3 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585

สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ในปี 2564 มีสัดส่วน 13.2% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 337,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 301,159 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% ต่อปี โดยมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้สุทธิ (มีเงินได้เหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และบริจาค) ที่ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น

ขณะที่บทบาทในการเป็นแหล่งรายได้ พบว่า ในช่วงปี 2556-2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้จากภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บ มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 12.2-13.7 และหรือประมาณ 2.09% ของ GDP ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 24.1% ขณะที่ในการลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีส่วนช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ตลอดช่วงปี 2513-2558 แต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากภาพรวมอัตราภาษีมีลักษณะที่ก้าวหน้าน้อยกว่าหลายประเทศ ดังนั้นจึงสะท้อนได้ว่าที่ผ่านมาภาษีเงินได้ของไทย ยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐ และจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่ (redistribution) ได้มากนัก