ต้องอย่างนี้! อินโดนีเซียสั่งห้ามขายสินค้าออนไลน์บนเฟสบุ๊กและติ๊กตอก

178
0
Share:
ต้องอย่างนี้! อินโดนีเซีย สั่ง ห้าม ขายสินค้า ออนไลน์ บนเฟสบุ๊กและติ๊กตอก

นายซุลคิฟลิ ฮันซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ประกาศใช้คำสั่งห้ามการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดบริการภายในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ขอยืนยันว่าเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโก วิโดโด กล่าวว่าต้องการเรียกร้องให้มีการควบคุมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่ผู้ผลิตรายกลางถึงรายเล็กและช่องทางขายสินค้าในประเทศอินโดนีเซีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวต่อไปว่า วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบอย่างมากมาย โดยมียอดขายเริ่มลดลงเป็นผลจากสินค้าจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียในประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ระบบการเชื่อมต่อระหว่างโซเชียลมีเดีย และการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซจะต้องถูกแยกออกจากกัน เพื่อไม่ให้บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มทำการใช้เทคโนโลยีควบคุม หรือสั่งการให้ระบบอัลกอริทึมทั้งหมด ที่สำคัญ ประกาศคำสั่งนี้ยังเป็นการป้องกันการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนชาวอินโดนีเซียเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ

นายซุลคิฟลิ ฮันซาน กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเพิ่มมาตรการควบคุมการขายสินค้าจากต่างประเทศ สินค้าจากต่างประเทศเหล่านี้จะได้รับการตรวจสอบเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตและขายในประเทศ

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศอินโดนีเซียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปรากฎว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าของธุรกรรมดิจิทัลขยายตัวขึ้นถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 360,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์

ก่อนหน้านี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของติ๊กตอก TikTok ประกาศแผนการลงทุนมูลค่าสูงถึงกว่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยเฉพาะตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศอินโดนีเซียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน เนื่องจากมีผู้ใช้งานติ๊กตอกในอินโดนีเซียมากถึง 113 ล้าน คน เป็นรองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ใช้งาน 116.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ติ๊กตอก ด้านโฆษก TikTok เปิดเผยว่า ติ๊กตอกเคารพกฎหมายและข้อบังคับในแต่ละประเทศ โดยหวังว่าการประกาศกฎระเบียบต่างๆ จะคํานึงถึงผลกระทบต่อผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มติ๊กตอกมากกว่า 6 ล้านคน และผู้ใช้งานที่สร้างสรรคเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสินค้าอีกเกือบ 7 ล้านคน ซึ่งอยู่ในช่องทางบริการของติ๊กตอก ช้อป