ถล่มหุ้นสหรัฐ! ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ทรุดหนักกว่า 400 จุด น้ำมันดิบโลกปิดลงหลุด 86 ดอลลาร์

274
0
Share:
ถล่มหุ้นสหรัฐ! ดัชนี หุ้น ดาวโจนส์ ทรุดหนักกว่า 400 จุด น้ำมันดิบโลกปิดลงหลุด 86 ดอลลาร์

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 33,696 จุด -431 จุด หรือ -1.26% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 4,090 จุด -57 จุด หรือ -1.38% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 11,855 จุด -214 จุด หรือ -1.78%

สาเหตุจากอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตเดือนมกราคมในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 0.7% สูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 0.4% นอกจากนี้ ยอดใช้สิทธิสวัสดิการแรงงานช่วงว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างไม่ได้คาดหวังมาก่อน สะท้อนการจ้างงานในสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่งและตึงตัวสูง

ก่อนหน้านี้ ตัวเลขขายปลีกเดือนมกราคมในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 1.9% สะท้อนกำลังซื้อจากผู้บริโภคที่ได้รับอัตราค่าจ้างแรงงานในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกาที่ยังคงขยายตัวได้ดี เมื่อวานก่อนหน้านี้ ดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 0.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ส่งผลให้เมื่อเทียบในแง่ 12 เดือน พบว่าเงินเฟ้อดังกล่าวเพิ่มขึ้นแตะ 6.4%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 6 เดือนทะยานขึ้นแตะ 5.022% ทำสถิติสูงกว่า 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี 8 เดือน หรือนับตั้งแต่กรกฎาคม 2007 เป็นต้นมา สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เสี่ยงสูงขึ้นกับการถดถอย

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด สาขาเซ็นต์หลุยส์ เปิดเผยว่าในการประชุุมเฟดครั้งแรกของปีนี้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ผ่านมานั้น ได้ออกเสียงให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 0.5% ที่สำคัญ จะออกเสียงให้ขึ้น 0.5% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมีนาคมนี้

ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 79.98 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.24 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.5% รวม 3 วันติดกัน ราคาน้ำมันดิบลดลง -2.79 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -3.5%

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน ทำให้ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ปิดเพิ่มขึ้น 5 วันทำการติดต่อกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนครึ่ง หรือตั้งแต่ตุลาคม 2022

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 85.57 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.31 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.5% รวม 3 วันติดกัน ราคาน้ำมันดิบลดลง -2.54 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -2.9%

ในปีผ่านไปราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สาเหตุจากนักลงทุนรอการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในวันอาทิตย์นี้ เพื่อประเมินผลการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสว่าจะยังคงมติลดกำลังการผลิตเท่าเดิม หรือลดลงอีก ขณะเดียวกันประเทศโปแลนด์มีมติสนับสนุนมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้มติของกลุ่มอียูที่คว่ำบาตรประเทศรัสเซียดังกล่าวมีผลในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้บริหารของ 2 บริษัทผลิตน้ำมันดิบในประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบรัสเซียจะลดต่ำลงระหว่าง 500,000 ถึง 1 ล้านบาร์เรลภายในช่วงไตรมาสแรกนี้ จากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบของกลุ่มอียู

กระทรวงพลังงาน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าเตรียมปล่อยน้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์จำนวน 26 ล้านบาร์เรลเข้าสู่ตลาดน้ำมันดิบสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปัจจุบันปริมาณน้ำมันดิบดังกล่าวของสหรัฐอเมริกามีอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกพลัสเปิดเผยรายงานภาวะน้ำมันดิบรายเดือน พบว่าได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบตลาดโลกขึ้นวันละ 100,000 บาร์เรล สาเหตุจากจีนเปิดประเทศ

ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 1,851.80 +0.4% ขณะที่ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ระดับ 1,842.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ +6.86 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ +0.4%

ย้อนกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม ในช่วงระหว่างวัน พบว่าราคาทองคำพุ่งทะยานสูงถึง 1,956.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือนครึ่ง หรือนับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2022 ซึ่งในวันนั้น ทองคำมีราคาที่ระดับ 1,957.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ในปีผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 หรือในรอบ 18 เดือน

สาเหตุจากตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตเดือนมกราคมในสหรัฐอเมริกาที่้เพิ่มสูงกว่าคาดไว้มาก เพิ่มแรงกดดันต่อเฟดในการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในเดือนมีนาคมนี้ ขณะที่เกิดการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำกำไรหลังจากแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ตันสัปดาห์นี้

ก่อนหน้านี้ ตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน นอกจากนี้บรรดาผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ยังมีมุมมองและแนวโน้มดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุดสุดท้ายในช่วงเดือนกรกฎาคมที่อาจสูงกว่าระดับ 5.15%