ถล่มเทขายเงินบิทคอยน์แรง ปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน เหลือกว่า 26,400 ดอลลาร์สหรัฐ

189
0
Share:
ถล่มเทขายเงิน บิทคอยน์ แรง ปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน เหลือกว่า 26,400 ดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดซื้อขายเงินคริปโทเคอร์เรนซี นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เงินสกุลบิทคอยน์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดในตลาดเงินคริปโทเคอร์เรนซี มีราคาทรุดลงมาที่ระดับ 26,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 924,000 บาทต่อบิทคอยน์ ทรุดลงถึง -9% ส่งผลให้มีราคาปิดต่ำสุดในรอบมากกว่า 2 เดือนผ่านมา หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน นอกจากนี้ ยังมีราคาร่วงลงถึง -13% จากราคาปิดสูงสุดในปีนี้ที่ระดับ 31,818 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,113,630 บาทต่อบิทคอยน์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

สาเหตุจากบริษัทสเปซ เอ็กซ์ ของนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีรวยอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา และของโลก ได้ขายเงินบิทคอยน์ที่ถือครองลงทุนในปี 2021 และ 2022 ออกหมดเป็นมูลค่า 373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 13,055 ล้านบาท และบันทึกเป็นรายได้ศูนย์ในทางบัญชี

ในปี 2022 เทสลา อินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีนายอีลอน มัสก์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ขายเงินบิทคอยน์ออกจากการลงทุนสูงถึง 75% ของพอร์ตการลงทุนเงินบิทคอยน์ หลังจากได้ลงทุนในเงินบิทคอยน์ถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 52,500 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เงินบิทคอยน์ถูกเทขายลงถึง -4% มาปิดที่ระดับ 27,901.60 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 976.556 บาทต่อบิทคอยน์ ทำสถิติราคาปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนเป็นต้นมา หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด เปิดเผยบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด พบว่า เฟดเห็นสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกายังมีความความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอีก โดยในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี

นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อยู่ในภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงด้วยแรงเทขายต่อเนื่อง ฉุดดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ปิดร่วงระนาวถึง 3 วันทำการติดต่อกัน

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ สายงานวิจัย ไบแนนซ์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายเงินคริปโทเคอร์เรนซีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดเงินคริปโทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่าเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 ส่งผลให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 40 ล้านล้านบาท