“ทนง พิทยะ” อดีตรัฐมนตรีคลัง แนะรัฐบาลใช้กองทุนหมู่บ้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

359
0
Share:
“ทนง พิทยะ” อดีตรัฐมนตรีคลัง แนะรัฐบาลใช้ กองทุนหมู่บ้าน ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ

นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อ “Transform Thailand? สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น?” ว่ารัฐบาลใหม่ในสายตาคนไทยและต่างชาติ คือ รัฐบาลพันธุ์ผสม ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยที่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายค้านและรัฐบาลมาฟอร์มรัฐบาลร่วมกัน ทำให้ประชาชนเกิดความมึนงง ขณะเดียวกัน ต่างชาติก็ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยแบบไทย ทำให้ไทยยังไม่เป็นทางเลือกเพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ

“จากการฟังแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในช่วงแรกๆ มีการระบุปัญหา แต่ในส่วนของการแก้ปัญหายังไม่เห็นคีย์เวิร์ด หรือนโยบายที่แท้จริง ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะไทยมีปัญหาจำนวนมาก ที่เห็นกลยุทธ์ชัดเจนคือดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าใช้อย่างไร” นายทนง กล่าว

ท่ามกลางความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนจน และจากผลพวงของนโยบายประชานิยม ที่ทำให้ประชาชนรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากเกินไป มองว่าควรมีการขับเคลื่อนจากกองทุนหมู่บ้านสู่ Digital Bank เปลี่ยนงบที่จะใช้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการนำเงินไปใส่ในกองทุนหมู่บ้านละ 6 ล้านบาทแทน ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบไม่หมดไป และสามารถช่วยเศรษฐกิจได้จริง แต่หากนำเงินไปแจกประชาชน สุดท้ายเงินก็จะกลับไปตกอยู่ในมือคนรวยเช่นเดิม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรสร้าง Digital Platform สำหรับสินค้า OTOP เพื่อให้ร้านค้าเกิดการแข่งขันกันเอง ซึ่งในส่วนนี้ใช้งบประมาณน้อย แต่เกิดประโยชน์มาก อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังต้องพบเจอกับความยากของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการเติบโตภาคการเกษตรมีจุดจำกัด โตได้ไม่เกิน 3%

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหา คือ SMEs ไทยถูกกระทบโดยคนจีน จากการขยายธุรกิจของคนจีนระลอกใหม่ในประเทศไทย รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ที่ธุรกิจคนกลางกำลังค่อยๆ หายไปเปลี่ยนเป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการอยู่รอดของโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อผลิต Intermediate products และความกังวลถึงโอกาสรอดของอุตสาหกรรมอาหารและการบริการสำหรับ SMEs ด้วย

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อภาคบริการ เนื่องจากการบริการคือรายได้สำคัญที่สุดของคนรุ่นใหม่ ด้วยสัดส่วนถึง 60% ของ GDP ดังนั้น รัฐบาลควรลดการกระจุกตัวในกรุงเทพ ด้วยการสร้าง Exhibition and Conference Centers ในภูมิภาค รวมถึงระบบการท่องเที่ยวด้วยความสะดวกและความปลอดภัยตลอดการเดินทาง

ด้านนโยบายการเงินการคลัง จะต้องมีการนำ Digital Technology มาใช้กับนโยบายการเงินการคลัง รักษาวินัยทางการคลัง และโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการเพิ่มผลผลิต