ทยอยขึ้น! แบงก์ชาติ ส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป เน้นให้สอดรับต้นทุนธนาคาร

263
0
Share:
ทยอยขึ้น! แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณปรับ ดอกเบี้ย ค่อยเป็นค่อยไป เน้นให้สอดรับต้นทุนธนาคาร

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ประเมินการดำเนินนโยบายทางการเงินและการส่งผ่านไปสู่ตลาด ทั้งตลาดทุน และธนาคารพาณิชย์ที่ส่งผ่านไปสู่ประชาชน เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้วิเคราะห์แล้ว และจากช่วงที่ผ่านมา ระบบการเงินดำเนินการมีการส่งผ่านใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้และสอดคล้องกับในอดีต ซึ่งการส่งผ่านโดยปกติธนาคารพาณิชย์จะส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ 0.6% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท.ได้ปรับเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน การเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) อัตราปกติ 0.46% ในปี 2566 พร้อมทั้ง กนง.ดำเนินการตามแนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นนั้น เป็นประเด็นที่ กนง.ประเมินไว้อยู่แล้ว ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินของธนาคารจะมีการส่งผ่านไประดับหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลที่ กนง.ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้นทุนของธนาคารพาณิชย์มีปัจจัยอื่นๆ มากระทบด้วยรวมถึงเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมของปี 2565 ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่คาด โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ทยอยปรับขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของ MRR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ยังต่ำกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของ MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเปราะบางของธนาคารพาณิชย์

สำหรับเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยจะเห็นได้จากหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วงไตรมาส 3/2565 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจที่ขนาดไม่ถึง 500 ล้านบาท