พาณิชย์เชื่อราคาหมูเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นแค่ระยะสั้น จากปัจจัยคลายล็อกโควิด 19

666
0
Share:

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาหมูเนื้อแดงในหลายพื้นที่ มีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่า เป็นช่วงระยะสั้น เพราะคลายล็อกจากการระบาดของโควิด-19 และเปิดสถานศึกษาทำให้ความต้องการบริโภคสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งสุกรของไทยปลอดไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้ราคาปรับขึ้นหรือดีมานด์เทียม
.
โดยสั่งพาณิชย์จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์ม และเขียงในตลาดสดว่าอยู่ในราคาที่เหมาะสมหรือไม่ โดยหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) หน้าเขียงประมาณ 150-160 บาท/ก.ก. หากราคาพุ่งไปต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ก็จะต้องใช้มาตรการอื่นๆ ในการเข้าไปควบคุมราคาไม่ให้สูงจนเป็นภาระของประชาชนผู้บริโภค
.
ทั้งการจำกัดการส่งออกไปต่างประเทศ การร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ จำกัดราคาหน้าฟาร์ม การจัดงานธงฟ้าเพื่อจำหน่ายเนื้อสุกรในราคาถูก รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้มงวด เรื่องการลักลอบนำเข้าสุกรจากประเทศเพื่อนบ้าน
.
แต่ต้องเห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่แบกรับภาระราคาหมูตกต่ำมานาน ซึ่งบางช่วงก็ขาดทุน หากการปรับราคาขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาดก็ต้องเข้าใจ เนื่องจากกรมการค้าภายในดูแลทั้งสองฝั่ง คือ ผู้เลี้ยงและผู้บริโภค หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ขายให้โทรสายด่วน 1569 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
.
แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ราคาขึ้นจะเป็นเพียงระยะสั้น ต่อไปราคาหน้าฟาร์มอาจลดลงไม่ถึง 70 บาทต่อก.ก.
.
โดยการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงสถานการณ์ราคาหมูเนื้อแดงในหลายพื้นที่ มีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาล่าสุดเพิ่มขึ้นจากก.ก. ละ 150-160 บาท เป็น ก.ก.ละ 170-180 บาท เนื่องจากราคาหมูเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นก.ก.ละ 86-87 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กรมการค้าภายในได้เคยตกลงไว้กับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ว่าจะคุมราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไม่ให้เกินก.ก.ละ 80 บาท จึงเป็นสาเหตุให้ราคาหมูเนื้อแดงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และราคาดังกล่าวน่าจะสูงสุดในรอบ 10 ปี
.
ยจากการตรวจสอบราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ฟาร์มส่วนใหญ่ติดราคาสูงสุดที่ก.ก.ละ 79 บาท ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ แต่ราคาขายจริงสูงกว่าราคาที่ประกาศไว้ แล้วแต่พื้นที่ โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ก.ก.ละ 86-87 บาท และมีแนวโน้มที่จะขยับเพิ่มขึ้นเป็นก.ก.ละ 90 บาท หากยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งจากการบริโภคในประเทศและการส่งออก
.