ทอท.คาดกลางปีหน้าเข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยาน อุดรธานี–บุรีรัมย์–กระบี่ จ่อรับโอนสิทธิ

391
0
Share:
ทอท. คาดกลางปีหน้าเข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยาน อุดรธานี – บุรีรัมย์ – กระบี่ จ่อรับโอนสิทธิ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาคที่รับโอนสิทธิมาจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยระบุว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ ทอท.เข้าไปบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยาน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมตามความเห็นของกระทรวงการคลัง เพื่อนำข้อมูลเสนอ ครม.อีกครั้ง

สำหรับข้อคิดเห็นของกระทรวงการคลังที่มอบหมายให้ ทอท.กลับมาศึกษาเพิ่มเติม อาทิ การอุดหนุนรายได้ให้ ทย. ความคุ้มค่าทางการลงทุน และฐานะทางการเงินที่จะเกิดขึ้นหลัง ทอท.เข้าไปบริหาร เบื้องต้นคาดว่าจะศึกษารายละเอียดแล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป

อย่างไรก็ดี หาก ครม. เห็นชอบผลการศึกษาดังกล่าว จะเข้าสู่ขั้นตอนสำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกใบรับรองท่าอากาศยานสาธารณะให้กับท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งให้แล้วเสร็จ จากนั้นในระยะแรก ทอท. จะเข้าไปบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยาน คู่ขนานกับ ทย. ที่ยังดำเนินการบริหารจัดการอยู่ เนื่องจากระหว่างนั้น ทอท.ต้องดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) และสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) ให้แล้วเสร็จ รวมทั้งต้องบริหารจัดการเรื่องบุคลากร ซึ่งจะไม่ใช่การโอนบุคลากร ทย. มา ทอท.ทั้งหมด แต่บุคลากรของ ทย. ที่ต้องการโอนย้ายมาอยู่ ทอท. ต้องลาออกจากราชการก่อน หลังจากนั้นต้องมาสมัครตามขั้นตอนรัฐวิสาหกิจของ ทอท. โดยยืนยันว่า ทอท.จะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก ซึ่งจะมีเกณฑ์การพิจารณา อาทิ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน

ทั้งนี้หากขั้นตอนกฎหมายแล้วเสร็จถูกต้องทั้งหมด ก็คาดว่าประมาณกลางปีหน้า ทอท. จะสามารถเข้าไปบริหารจัดการทั้ง 3 ท่าอากาศยานอย่างเป็นทางการ ส่วนเรื่องชดเชยรายได้ให้ ทย.นั้น ก็ยืนยันว่าจะชดเชยรายได้ไม่น้อยกว่าที่ ทย.เคยได้รับจากการบริหาร

ส่วนแผนเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ยังคงกรอบวงเงินลงทุนเดิม เบื้องต้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ร ในระยะแรกไม่ได้คาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร หรือปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร แต่จะดำเนินการให้ท่าอากาศยานเหล่านี้มีจุดแข็งอย่างชัดเจน เช่นท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จะเป็นศูนย์กลางการบินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประตูเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และ สปป.ลาว และสามารถรองรับการบินตรงเส้นทางบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่ต้องมาเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ด้วย