ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลใช้เงินในงบประมาณแจกเป็นเงินดิจิทัลเป็นงวด เน้นเจาะกลุ่มเดือดร้อน

197
0
Share:
ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐบาลใช้เงินในงบประมาณแจกเป็น เงินดิจิทัล เป็นงวด เน้นเจาะกลุ่มเดือดร้อน

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ของนักวิชาการ ภาคธุรกิจ ประชาชน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ มาพิจารณาว่าจะมีวิธีอย่างไรที่จะใช้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาถึงแนวทางในรายละเอียดที่เหมาะสม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ของนักวิชาการ ภาคธุรกิจ ประชาชน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ มาพิจารณาว่าจะมีวิธีอย่างไรที่จะใช้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด

สำหรับนักวิชาการเองชัดเจนว่าหากมีเม็ดเงินจำกัดก็อยากเห็นรัฐบาลนำเงินไปช่วยกับกลุ่มที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่ากลุ่มใดเป็นกลุ่มที่เดือดร้อน รายได้ต่ำ จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ใช้เงินราว 5 แสนล้านเช่นเดียวกันทำให้คนจีนหมดความยากจนได้อย่างแท้จริงเพราะเป็นการมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริงๆ และแน่นอนว่าการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยในทางวิชาการจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการแจกเงินเป็นวงกว้าง

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาแจกที่รัฐบาลพิจารณาไว้หลายแหล่งทั้งการกู้ยืม การใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งแต่ละแหล่งข้อพิจารณาทางกฎหมายพอสมควรและอาจเกิดอุปสรรค เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลอยากเดินหน้าโครงการวิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้เงินในงบประมาณ โดยกันงบประมาณส่วนที่คิดว่าซ้ำซ้อน ไม่มีประสิทธิภาพ ทยอยแจกเป็นเงินดิจิทัลเป็นงวดๆ ได้หากงบประมาณในแต่ละปีมีไม่พอ และเริ่มแจกกลุ่มที่รายได้ต่ำที่สุดก่อน และเมื่อรัฐบาลอยู่ในวาระการบริหารงานยาวพอสุดท้ายคงสามารถทำโครงการนี้ให้เสร็จสิ้นได้ หากอยากจะเดินหน้าในทางนี้

ส่วนมุมมองของการใช้นโยบายนี้ในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีบทเรียนจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และการศึกษาการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะค้นพบคล้ายๆ กัน คือ เงิน 1 บาท ที่ใส่เข้าไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้จีดีพีกลับมาไม่ถึง 1 บาท โดยทั่วไปได้กลับมาเพียง 40% หรือ 40 สตางค์ ในบางประเทศต่ำกว่านั้นเช่น ใส่ไป 1 บาท ได้จีดีพีมา 1 สตางค์ เท่านั้น ยังไม่เคยเห็นการศึกษาทางวิชาการที่เปิดเผยเป็นสาธารณะตามที่กล่าวถึงกันว่าจะได้ตัวคูณทวีทางการคลัง (Multiplier Effect) 3-5 เท่า เพราะฉะนั้นนี่คือบทเรียนที่รัฐบาลควรนำไปพิจารณาประกอบด้วย