ทีทีบีหั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 2.8% ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยง กังวลแจกเงินดิจิทัล

165
0
Share:
ทีทีบี หั่นจีดีพีไทย เศรษฐกิจไทย ปีนี้เหลือโต 2.8% ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยง กังวลแจกเงินดิจิทัล

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 66 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำรออยู่ข้างหน้า โดย ttb analytics ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้มาก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 66 ขยายตัวได้ 2.2% และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจทั้งปี จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า ดังนั้น ttb analytics จึงปรับลดประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 66 จากเติบโต 3.2% เป็น 2.8% และในปี 67 จากเติบโต 3.6% เป็น 3.2%

ทั้งนี้ ทีทีบีประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยแรงสนับสนุนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นบางส่วนผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Free Visa) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่จะทยอยปรับดีขึ้น

โดยแรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการผลิต และท่องเที่ยวที่แผ่วลง ท่ามกลางภาระหนี้สูง และแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเร่งตัว อีกทั้งยังมีผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งกระทบต่อผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 67 ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวมอีกด้วย

ด้านเสถียรภาพทางการเงินยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งขึ้นในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มทยอยเพิ่มขึ้น ตามการควบคุมกลไกด้านราคาในตลาดโลก สวนทางกับข้อจำกัดในการใช้นโยบายพยุงราคาพลังงานในประเทศ อีกทั้งแรงกดดันด้านราคาอาหารที่อาจกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง จากผลพวงของเอลนีโญ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3 สู่ระดับสูงสุดของวัฎจักร (Terminal rate) ที่ 2.5% ก่อนจะคงที่ในระดับดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 67 เป็นอย่างน้อย

นอกจากนี้ แม้ว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวชะลอลงอย่างช้าๆ (Deleveraging) แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของจีดีพี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ท่ามกลางรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายได้กลับทรงตัวในระดับต่ำยาวนาน ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวปีละ 3-4% เช่นนี้ต่อไปอาจเป็นการยากที่จะปรับลดให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพีได้

ขณะที่นโยบาย Digital Wallet 10,000 บาทของภาครัฐ จะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น จากประมาณการ 0.5% แต่ยังคงต้องติดตามในเรื่องการนำงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรต่อการคลังของประเทศ ซึ่งหากต้องมีการกู้เพิ่มเพื่อมาใช้ในโครงการอาจจะมีความเสี่ยงทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 61% ของจีดีพี