ทีวีดิจิตอลจ่อฟ้องกสทช. หากยกเลิกเรียงช่องไม่เป็นธรรม

1000
0
Share:

หลังจากที่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) ได้มีการประชุมกลุ่มย่อย ร่วมกับโครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ซึ่ง กสทช.จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และ กสทช.เสนอยกช่อง 1-10 ให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจัดเรียงช่องเองอิสระ ส่วนทีวีดิจิตอล อยู่หมายเลข 11-36 ตามเดิม แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติเนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างความเสียหายของตน และในการประชุมวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองกสทช.ก็ยังไร้ข้อสรุป เพราะองค์ประชุมไม่ครบ
.
ทำให้นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) กล่าวว่า ทางสมาคมฯจะประกาศจุดยืนและแนวทางการต่อสู้ในฐานะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 4 ข้อ
.
ข้อแรก คือการ เป็นสื่อหลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อตามนโยบายของรัฐ เมื่อการเปลี่ยนผ่านของทีวีภาคพื้นดินไม่เป็นไปตามแผนงาน การคงไว้ซึ่ง ประกาศ must carry ปี 2555 และ ประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ให้โครงข่ายการรับชมอื่นๆทั้งทีวีดาวเทียม และ เคเบิลทีวี นำช่องรายการของทีวีดิจิตอล ไปออกอากาศตรงตามหมายเลขการประมูล ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการชดเชย และทดแทน” โครงข่ายภาคพื้นดิน เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล ที่คนดูหาช่องไม่เจอซ้ำรอยในอดีตที่นับเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
.
จุดยืนข้อที่สอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบดิจิตอล ทำให้ไม่มีผู้เสียหายจากการเรียงช่อง มีแต่ผู้แสวงประโยชน์ จากการยกเลิกประกาศเรียงช่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้คลื่นความถี่ในโครงข่าย ของทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี เป็นไปอย่างไม่จำกัด สามารถจัดรูปแบบการเรียงช่องเป็นหมวดหมู่เพื่อบริการผู้ชมที่เป็นสมาชิกตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งผู้ประกอบการโครงข่ายก็ยืนยันเองว่า ปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องการจัดลำดับและหมวดหมู่หมายเลขช่องกับสมาชิกตามความต้องการแต่ละพื้นที่แล้ว

แต่สำหรับ ทีวีดิจิตอลการเรียงช่อง ตามลำดับหมายเลขการประมูลให้ตรงกันทั้งประเทศ ในทุกโครงข่ายทุกช่องทางการรับชม เป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม เพราะเป็นเงื่อนไขหลักที่ผู้ประกอบการทุ่มเงินประมูลเพื่อสิทธิ์ในการเลือกหมายเลขช่องเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ชม และต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับผู้ชมจนเกิดการจดจำ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมเกิดความสับสนต่อผู้ชมจนหาช่องไม่เจอ เกิดความเสียหายต่อการอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างประเมินค่าไม่ได้
.
ข้อสาม หากมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ย่อมเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลอย่างมากมายมหาศาล เพราะช่องที่ออกอากาศในหมายเลข 1-10 ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีตามข้อเสนอของ กสทช. ย่อมเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจต่อทีวีดิจิตอล แต่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาต ส่งผลถึงคุณภาพการผลิตของทีวีดิจิตอลในอนาคต กระทบต่อความนิยมและเกิดการตัดราคาค่าโฆษณา
.
หรือหากศาลยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น จะก่อให้เกิดสุญญากาศสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทันที เพราะลำดับช่องรายการไม่เป็นไปตามเดิม ผู้ชมสับสน หาช่องเดิมไม่เจอ เป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี 5G จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้ และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิตอล สื่อหลักของชาติในที่สุด
.
ข้อสี่การประกาศเรียงช่อง คือหัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล และเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวี หากต้องเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดความเสียหาย และจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองอีกครั้งอย่างแน่นอน