ทีเอ็มบีธนชาต ประเมินตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่ารวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท

211
0
Share:
ทีเอ็มบีธนชาต ประเมิน ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่ารวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท

นางพรรณวลัย อินทราพิเชฐ หัวหน้าบริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักและสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยในปี 2565 มีมูลค่าตลาดรวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

ส่วนในปี 2566 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้อีก 5.5% โดยธนาคารเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดงานสัมมนาในรูปแบบ Interactive ภายใต้ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ด้วยองค์ความรู้ที่ครบครัน จาก พันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกธุรกิจปัจจุบัน พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวสุทิพา ปัญญามหาทรัพย์ Chief PC & HCC Business Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตดีขึ้นหลังซบเซามานานจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม Personal Care ที่โตถึง 11.7% สำหรับเทรนด์ผู้บริโภคที่คาดว่าจะมาแรงในตลาดอุปโภคบริโภคของไทย คือ Power to the People การที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า ทางบริษัทผู้ผลิตหรือแบรนด์ต่างๆ ได้เริ่มเปิดโอกาสและรับความคิดเห็นด้านต่าง ๆ จากผู้บริโภค พร้อมนำ data มาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของอีคอมเมิร์ซนั้นมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างมาก

โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่เติบโตขึ้นปีละ 100% แต่สินค้าที่ขายทางออนไลน์นั้นกำไรค่อนข้างน้อย เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง เช่น ค่ากล่อง ค่าขนส่ง ฯลฯ อีกทั้งยังต้องแข่งขันกันสูงเรื่องโปรโมชัน ซึ่งผู้บริโภคมักมองหาก่อนตัดสินใจซื้อเสมอ อย่างไรก็ตาม อีคอมเมิร์ซเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ยังต้องมีตามพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยประเทศไทยนิยมซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ ในปี 2566 เป็นยุคของ Hybrid World ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายที่ร้านค้า (Physical Store) มากขึ้น หลังจากอัดอั้นและช้อปผ่านออนไลน์มาตลอด ผู้ประกอบการจึงต้องดูแลช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้สมดุล ไม่ควรทุ่มไปช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ซึ่งในปีนี้คาดว่าช่องทางออนไลน์จะเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 10-20% โดยสินค้าที่ขายดีคือ สินค้าแฟชั่น อาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเพื่อสุขภาพและดูแลร่างกาย

นางกนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ความท้าทายของผู้ประกอบการรายเล็กคือ “ต้นทุน” ที่สูงกว่ารายใหญ่ โดยต้นทุนการขายของผู้ประกอบการรายเล็กในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 75% ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ที่ 70% ซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรที่ต่างกันเป็นเท่าตัว ยิ่งในปีนี้ยังมีแรงกดดันด้านต้นทุนอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อ ในขณะที่การปรับราคาขายในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นทำได้ยาก การบริหารจัดการต้นทุนและประสิทธิภาพการดำเนินงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อกำไรของธุรกิจ

ทีเอ็มบีธนชาตจึงได้พัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ อาทิ ttb sme one bank บัญชีธุรกิจที่ช่วยประหยัดต้นทุน ttb smart shop ตัวช่วยในการจัดการร้านค้าและรับชำระผ่าน QR ttb quick pay บริการสร้าง Link เพื่อการรับชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น