ทุบสถิติใหม่! กว้านซื้อเงินบาทดันทะลุสูงสุดรอบใหม่ใน 6 เดือน กว่า 34.78 ต่อดอลลาร์

237
0
Share:
ทุบสถิติใหม่! กว้านซื้อ เงินบาท ดันทะลุสูงสุดรอบใหม่ใน 6 เดือน กว่า 34.78 ต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาจากบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์

สำหรับตลาดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น พบว่ายังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 104.7 จุด ต่ำกว่าโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุด ซึ่งในเชิงเทคนิคัลจะชี้ว่า เงินดอลลาร์ได้เริ่มกลับมาเป็นเทรนด์ขาลงที่ชัดเจนขึ้น โดยปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ยังคงเป็นแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ตามข้อมูลเงินเฟ้อและภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุโซนแนวต้านสำคัญ สู่ระดับ 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ค่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว หลังหลุดจากโซนแนวรับที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สู่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นระดับที่เงินบาทสามารถแข็งค่าไปได้ หากหลุดจากแนวรับสำคัญ โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นและบอนด์ไทย

“ การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท (ซึ่งใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินว่า อาจเป็นระดับของเงินบาทในปลายไตรมาสแรกของปีหน้า) จะส่งผลให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนที่มีสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทแข็งค่า) ก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรได้บ้าง เนื่องจากโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ก็เริ่มเป็นโซนแนวรับเชิงเทคนิคัล ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในระยะสั้นนี้”นายพูนระบุ

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งต้องระวังว่า หากการจ้างงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลง ก็อาจยิ่งหนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้อีกไม่มาก หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้แต่หาก การจ้างงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มกังวลต่อมุมมองดังกล่าว ซึ่งเราอาจเห็นการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง และเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน