ธนาคารกลางทั่วโลกจ่อซื้อทองคำแท่งปีละ 600 ตันจนถึงปี 2030 แบงก์ชาติจีนนำซื้อทองคำตุนทุนสำรอง

214
0
Share:
ธนาคารกลาง ทั่วโลกจ่อ ซื้อทองคำแท่ง ปีละ 600 ตันจนถึงปี 2030 แบงก์ชาติจีนนำซื้อทองคำตุนทุนสำรอง

ธนาคารเอเอ็นแซท (ANZ) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชื่อดังระดับโลกจากประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกลายเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลาหลายทศวรรษผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจ คือในช่วง 2 ปีผ่านมา พบว่าธนาคารกลางทั่วโลกทุ่มซื้อทองคำแท่งเข้าเก็บไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศจนส่งผลทองคำสำรองโลกพุ่งทะยานมากกว่า 1,000 เมตตริกตันใน 2 ปีติดต่อกัน หรือตั้งแต่ปี 2022-2023 ผ่านมา

นอกจากนี้ การซื้อทองคำแท่งของธนาคารกลางทั่วโลกในช่วง 2 ปีดังกล่าว ยังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด สะท้อนจากสัดส่วนของธนาคารกลางซื้อทองคำเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ทำให้มีส่วนแบ่งขึ้นมาเป็น 25-30% ของความต้องการของผู้ซื้อทองคำทั่วโลกด้วย

ถึงแม้ว่าในปีนี้ และในอนาคต ความต้องการซื้อทองคำแท่งของธนาคารกลางทั่วโลกอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีปริมาณมากเหมือนกับที่ผ่านมาก็ตาม แต่ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งรายใหญ่ต่อไปอย่างน้อยในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือจนถึงกว่าปี 2030 ด้วยการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะซื้อทองคำแท่งเฉลี่ยถึงปีละกว่า 600 เมตริกตันไปจนถึงอย่างน้อยในปี 2030 ซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนของทองคำแท่งเพิ่มเป็น 10% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงมีบทบาทและเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในกลุ่มธนาคารกลางด้วย

สาเหตุจากปัญหาความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคสำคัญของโลกที่จะยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธนาคารกลางพุ่งเป้าไปที่การซื้อทองคำแท่งเพิ่มต่อเนื่อง ที่น่าสนใจ คือ อีกหนึ่งเหตุผลที่ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มการถือครองทองคำมากขึ้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงและกระจายความเสี่ยงจากการถือครองพันธบัตรสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากในช่วง 2 ปีผ่านมาที่อยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐอเมริกาที่เร่งขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบ 40 ปี ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาพันธบัตรทั่วโลก

ในเวลาเดียวกัน ผลตอบแทนจากการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลที่จ่ายสูงมากขึ้นอย่างมาก มีผลไปถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นสูงด้วย ทำให้ประเทศเกิดใหม่ ประเทศกำลังพัฒนา มีภาระจ่ายคืนหนี้สูงอย่างมาก โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ธนาคารเอเอ็นแซท (ANZ) คาดการณ์ว่าราคาทองคำตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หากเกิดขึ้นจริง จะทำสถิติราคาทอวคำสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงสิ้นปี 2024 นี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2023 ราคาทองคำส่งมอบล่วงหน้า หรือ Gold Future ปิดที่ 2,107.60 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่ในช่วงระหว่างวันซื้อขาย ราคาทองคำล่วงหน้าขึ้นสูงสุดที่ 2,152.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ส่งผลให้ราคาซื้อขายสูงสุดระหว่างวันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์