ธปท.หวั่นหนี้ครัวเรือนสูง มีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย – มีหนี้นานจนเกษียณ

928
0
Share:

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดทำบทความซึ่งจะเผยแพร่ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ของธปท.ในวันที่ 28 ก.ย.2563 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย จากข้อมูลพบกว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL
.
จากบทความ สะท้อนว่า คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีหนี้นานตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ และมีหนี้จนแก่ และ 84% ของครัวเรือนยังพึ่งพาหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ โดยภาระหนี้สูงได้กระทบการอุปโภคบริโภคและการลงทุน ซึ่งเมื่อเกิดความไม่แน่นอนต่าง ๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนมีปัญหาการชำระหนี้ และอาจเกิดวิกฤติหนี้รายย่อยได้
.
ภาระหนี้ที่สูงกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และทำให้ครัวเรือนไทยขาดภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ วิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ก็ได้ตอกย้ำถึงความเปราะบางดังกล่าว และทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายขึ้นมากท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงที่จะเกิด second wave และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจไม่รวดเร็วและทั่วถึง
.
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาคุณลักษณะของบัญชีและผู้กู้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย. กว่า 8.1 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 70% ของตัวเลขจำนวนบัญชีที่เข้ามาตรการ ธปท.โดยแยกแยะบัญชีดังกล่าวจากฐานข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโร ที่ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อยจากสถาบันการเงิน 102 แห่ง
.
โดยพบว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ 59.7% เข้ามาตรการในเดือนเมษายน โดย 42.4% เข้ามาตรการครบ 3 เดือนในเดือนมิถุนายน และมีบัญชีกว่า 16.6% ที่เข้ามาตรการแล้วออกไปก่อนครบ 3 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่ไม่เท่ากันของผู้กู้แต่ละกลุ่ม
.
เมื่อพิจารณาลักษณะการเข้ามาตรการของบัญชีทั้งหมด พบว่า 70.5% เป็นการเลื่อนชำระซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงการมีปัญหาในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในวงกว้าง ขณะที่ 25.8% เป็นการลดอัตราการชำระ และ 3.7% เข้ามาตรการสำหรับหนี้เสียในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือคลินิกแก้หนี้ และผู้กู้ส่วนใหญ่ 76.1% มีสินเชื่อเข้ามาตรการเพียง 1 บัญชี แต่ก็มีผู้กู้อีก 7.3% ที่เข้ามากกว่า 2 บัญชี และอีก 4.9% ยังได้สินเชื่อใหม่เพื่อเป็นสภาพคล่องฉุกเฉินด้วย
.
นอกจากนี้สินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลือมีลักษณะกระจุกตัว ทำให้บางพื้นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในภาคอีสานตะวันออกที่มีสัดส่วนสินเชื่อเข้ามาตรการสูงถึง 40-60% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีจำนวนบัญชีมาก และสินเชื่อบ้าน ซึ่งมีขนาดมูลหนี้สูง และส่วนใหญ่เข้ามาตรการเลื่อนชำระเป็นหลัก ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคใต้และเหนือตอนบนมีสัดส่วนสินเชื่อที่เข้ามาตรการสำหรับหนี้เสียสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ
.
ส่วนความเสี่ยงของสินเชื่อรายย่อยแตกต่างกัน โดยกลุ่ม Non-bank มีสัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตเข้ามาตรการมากที่สุด 10 อันดับแรก 37-75% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และเข้ามาตรการในลักษณะลดอัตราการชำระ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วน 3-25% ด้านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีสัดส่วน 10-35% ไม่รวมสินเชื่อเกษตร
.
ขณะที่มูลหนี้และจำนวนบัญชีสินเชื่อในพอร์ตสูงกว่าผู้กู้ที่ไม่ได้เข้า โดยผู้กู้ที่เข้ามาตรการสำหรับหนี้เสียมีภาระหนี้มากที่สุด มูลหนี้เฉลี่ย 1.7 ล้านบาทจาก 6 บัญชี รองลงมาคือผู้กู้ที่เลื่อนชำระ เฉลี่ย 900,000 บาทจาก 6 บัญชี และผู้กู้ที่ลดอัตราการชำระ เฉลี่ย 1.1 ล้านบาทจาก 5 บัญชี โดยผู้กู้ที่มีหลายบัญชีส่วนใหญ่ยังใช้สถาบันการเงินเพียง 1-2 แห่ง นอกจากนี้ ผู้กู้ที่เข้ามาตรการยังมีประวัติการชำระหนี้ใน 12 เดือนที่ผ่านมาด้อยกว่า และมีอายุมากกว่าผู้กู้ที่ไม่ได้เข้าอย่างมีนัยสำคัญด้วย
.
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลือข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในวงกว้างและความแตกต่างของความเปราะบางทั้งในระดับผู้กู้ พื้นที่ และสถาบันการเงินเมื่อมาตรการช่วยเหลือระยะแรก ๆ ได้สิ้นสุดลง และสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของนโยบายแก้หนี้ในอนาคต ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งเป้าความช่วยเหลือ การบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุกเพื่อป้องปรามไม่ให้บัญชีหนี้ดีจำนวนมากกลายเป็นหนี้เสีย และการ “prepare for the worst” จากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นของสถานการณ์สินเชื่อรายย่อยจำนวนมหาศาลเหล่านี้