ธุรกิจขนส่งพัสดุปีนี้ปี 63 ยังแข่งเดือด

2671
0
Share:

ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส SCBEIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2563 มูลค่าตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุของไทยมีแนวโน้มเติบโต 35% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการซื้อขายสินค้าผ่าน e-commerce ที่มูลค่าตลาดยังเติบโตต่อเนื่อง 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 1 แสนล้านบาท
.
โดยตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวได้เฉลี่ย 40% ต่อปี สอดคล้องกับตลาด e-commerce ของไทยที่เติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี จากการประเมินของ Euromonitor
.
การเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ e-commerce รายใหญ่ เช่น Lazada, Shopee, JD Central, Priceza และการค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Line, Instagram รวมถึงในหน้าเว็บไซต์ของแต่ละร้านค้าเอง และทำให้คาดว่าการขนส่งพัสดุในปี 2563 จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นการจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ เช่น เทศกาลช้อปปิ้งเอาใจคนโสด 11.11 ของ Lazada // 12.12 Birthday Sale ของ Shopee // และ Black Friday จะส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวัน
.
ด้านการแข่งขัน ธุรกิจขนส่งพัสดุมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคารุนแรงยิ่งขึ้น จากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ในปี 2561 ตลาดขนส่งพัสดุประกอบด้วยผู้เล่นในรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่ บ.ไปรษณีย์ไทย จำกัด // เคอรี่ เอ็กซ์เพรส และลาซาด้า เอ็กซ์เพรส (Lazada Express) และผู้เล่นรายกลางอื่น ๆ อีกหลายราย
.
นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นรายใหญ่หลายรายจากต่างประเทศได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย เช่น เบสท์ โลจิสติกส์ และแฟลช เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มอาลีบาบาจากจีนเป็นหุ้นส่วนเป็นต้น และยังต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการรับ–ส่งสินค้าตามความต้องการ ซึ่งให้บริการด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ไลน์แมน หรือ แกร็บเอ็กซ์เพรส
.
อย่างไรก็ตามพบว่ามูลค่าเฉลี่ยของสินค้าต่อการสั่งซื้อผ่านช่องทาง e-commerce สูงขึ้นจาก 1,300 บาทในปี 2560 มาอยู่ที่ 1,700 บาทในปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน และเครื่องสำอาง อีกทั้งมูลค่ามีโอกาสสูงขึ้นอีกจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงยุคใหม่ ที่หันมาสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมระดับ Hi-End ผ่านทาง online platform เพิ่มมากขึ้น