ธุรกิจดีลเลอร์ขายรถยนต์ในไทยปรับตัวครั้งใหญ่ แบรนด์รถไฟฟ้าจีนตีตลาดรถยนต์สันดาปรุนแรง

1329
0
Share:
ธุรกิจ ดีลเลอร์ขายรถ ยนต์ในไทยปรับตัวครั้งใหญ่ แบรนด์รถไฟฟ้าจีนตีตลาดรถยนต์สันดาปรุนแรง

บริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยผลการสำรวจการปรับตัวของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยเปลี่ยนแปลง และตลาดรถยนต์ในไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถบีอีวี พบว่า ปัจจุบันสภาพการแข่งขันตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีความรุนแรงมาขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการมาถึงของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถบีอีวีสัญชาติจีน เดิมในปี 2018 มีรถบีอีวีจีนเพียงยี่ห้อเดียว กลับเพิ่มเป็น 5 ยี่ห้อจีนในปี 2023 นี้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถไฟฟ้าแบรนด์จีนจากเดิมเพียง 2% ขยายเพิ่มขึ้นถึง 5% ในปี 2022 ผ่านมา

ขณะที่ แบรนด์รถยนต์เครื่องสันดาปจากญี่ปุ่นได้รับผลกระทบในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยผู้นำในตลาดรถยนต์ประเทศไทย ได้แก่ โตโยต้าและอีซูซุยังคงรักษาการขยายตัวในตลาด และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรวมจากเดิมในปี 2018 ที่ 46% ขึ้นมาเป็น 60% เมื่อในปี 2022 ท่ามกลางแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น 3 รายชั้นนำ กลับพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดรวมกันลดลงจาก 28% มาเป็น 21% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีค่ายรถยนต์อีกราว 10 แบรนด์ ต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดลดลงจากเดิม 25% เมื่อปี 2018 มาเป็นต่ำกว่า 20% ในปี 2022 ผ่านไป

ธุรกิจดีลเลอร์ หรือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาปหลายแบรนด์ล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่เป็นผลจากยอดขายที่ลดลงต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ภาพรวมตลาดรถยนต์ในไทยปี 2023 นี้ ว่า ยอดขายจะลดลงมาอยู่ที่ 782,000 คัน มีสัดส่วน 22% ของยอดขายที่ลดลง สาเหตุจากรายได้ของครอบครัวในไทยที่ลดลงจาก 43,000 บาทในปี 2017 เหลือเพียง 39,047 บาทในปี 2021 ผ่านมา หรือทรุดต่ำลงถึง -9.19% ในขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จนมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของรายได้ต่อครัวเรือน เป็นสาเหตุสำคัญในการฉุดกำลังซื้อ นอกจากนี้ สถาบันการเงินต่างๆ มีความเข้มงวดต่อการอนุมัติสินเชื่อเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ เนื่องจากอัตราการการชำระคืนอยู่ในขั้นต่ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสียจากการกู้เงินซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 18% และสถาบันการเงินปฏิเสธการกู้เพิ่มมากขึ้น ความท้าทายในการฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และผู้บริโภคที่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โดยตรง โดยเฉพาะดีลเลอร์ที่เป็นตัวแทนแบรนด์รถยนต์ระดับรองลงมา ยอดขายรายเดือนของตัวแทนจำหน่ายแต่ละแห่งต้องลดลง และดีลเลอร์รถยนต์จำนวนมากดำเนินธุรกิจได้อย่างยากลำบากมากขึ้นในรอบหลายสิบปีผ่านมา

บริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับความหวังที่จะเห็นตลาดรถยนต์ในประเทศไทยกลับมามียอดขายสูงถึง 1 ล้านคันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนปี 2019 นั้น กลายป็นความท้าทายครั้งใหญ่มาก และอาจต้องใช้เวลาอีก 5 ปี เนื่องจากปัญหาและปัจจัยที่กระทบวงการรถยนต์ในไทยในช่วงผ่านมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มียอดขายในประเทศลดน้อยลงเรื่อยๆ มาเหลือเพียง 830,000 คันในปี 2022 ผ่านมา

ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในไทยที่มีต่อขั้นตอนการซื้อรถยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย ผู้บริโภคส่วนมากใช้วิธีหาข้อมูลการซื้อรถยนต์จากสื่อโซเชียลที่มีข้อเสนอมากมาย และมีข้อมูลเข้ามาหลายทางจนอาจทำให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชอบการตั้งราคาขายรถยนต์ที่ตรงไปตรงมา หากเกิดการเปรียบเทียบราคาขายที่อาจใช้เวลาเนิ่นนาน และเกิดความยุ่งยากนั้น กลับสร้างประสบการณ์การซื้อที่ไม่ดี ซึ่งมีผลต่อความพอใจและชื่อเสียงของแบรนด์รถยนต์

สำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่มีอายุน้อยจะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและเทคโนโลยีที่มีทั้งสาระและบันเทิงมากกว่าความซื่อสัตย์ที่มีต่อแบรนด์รถยนต์ นั่นจึงเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้รถยนต์แบรนด์ใหม่ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้บริโภคยังใช้การค้นหาข้อมูลทางออนไลน์มากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปดูสินค้ารถยนต์คันจริงที่โชว์รูมของดีลเลอร์ นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลต่อการตัดสินใจจากการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ ที่สำคัญ ผู้บริโภคคนไทยมีจำนวนมากที่ตัดสินใจซื้อรถยนตร์จากข้อมูลเหล่านี้ แม้การซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงจะยังต้องมีการเดินทางข้ามาที่โชว์รูม แต่ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปใช้การซื้อขายทางออนไลน์ทั้งกับรถยนต์และสินค้าอื่นๆ มากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ได้ทำการสำรวจผ่านการสัมภาษณ์ดีลเลอร์รถยนต์แบรนด์ต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 24 แห่ง