นักร้องมาอีก! ศรีสุวรรณยื่นหลักฐานมัดพิธาผิดถือหุ้นสื่อ แนะ กกต.ไม่ต้องรีบวินิจฉัย

273
0
Share:
นักร้องมาอีก! ศรีสุวรรณ ยื่นหลักฐานมัด พิธา ผิดถือ หุ้นสื่อ แนะ กกต.ไม่ต้องรีบวินิจฉัย

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66 เวลา 16.00 น.ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นพยานหลักฐานหลายชิ้น เกี่ยวกับการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จำนวน 42,000 หุ้น เพื่อเป็นการตอกย้ำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.98(3) หรือไม่ให้ได้แน่นหนามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้รายงานข้อมูลพบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและเป็นผู้ที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น น่าจะขาดคุณสมบัติผู้รับสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ม.98(3) ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ต่อมา นายพิธา ได้ออกมายอมรับว่า หุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนแต่เป็นของกองมรดก ตนเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดกเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามบริษัทไอทีวียังมีการประชุมผู้ถือหุ้นและมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ายังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ จะอ้างว่าหยุดประกอบกิจการไปแล้วมิได้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมามอบให้ กกต. ให้แน่นหนามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาวินิจฉัยอย่างรอบคอบ เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาว่า ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ม.98(3) ประกอบ ม.42(3) แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่อย่างไร

นายศรีสุวรรณ ยังระบุด้วยว่า กกต. ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบวินิจฉัยก็ได้ ปล่อยให้คนบางพวกอกแตกตายไปก่อนก็ยังได้ แต่ควรจะพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ให้รอบด้านรัดกุมก่อนที่จะวินิจฉัย และถ้าจำต้องรับรองความเป็น ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไปก่อนก็ยังได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องวินิจฉัย ก็ต้องนำเรื่องของสมาชิกภาพของความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.101(6) ประกอบ ม.98(3) ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายต่อไปด้วย