นักวิชาการเฉพาะทางโทรคมนาคมชี้ทรูควบดีแทค ทำคนไทยเสี่ยงจ่ายแพงพุ่ง 120%

293
0
Share:
โทรคมนาคม

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า จากการคำนวณดัชนีการกระจุกตัว (HHI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าตลาดกระจุกตัวกับผู้ประกอบการรายใหญ่มากขนาดไหน พบว่า ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน แบ่งเป็น เอไอเอส 46.8% ทรู 32.5% ดีแทค 17.8% และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที 2.8% ดังนั้น หลังควบรวมกิจการ ส่วนแบ่งตลาดหลังควบรวมทรู-ดีแทค จะอยู่ที่ 50.4% จากดัชนีการกระจุกตัว HHI ปัจจุบันอยู่ที่ 3,578 จะเพิ่มขึ้น 32.4% เป็น 4,737

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดอินเตอร์เน็ตมือถือ ปัจจุบันดัชนีการกระจุกตัว HHI อยู่ที่ 3,556 จะเพิ่มขึ้น 35.6% เป็น 4,823 แบ่งเป็น เอไอเอส 46.8% ทรู 30.4% ดีแทค 20.8% และเอ็นที 1.9% ซึ่งจะนำผู้ให้บริการ MVNO มาคำนวณร่วมหรือไม่ ผลที่ออกมาไม่แตกต่างกัน เพราะมีผู้ให้บริการเพียง 5 ราย รวม 40,000 เลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 0.03% ทั้งนี้ ไม่นำผู้ให้บริการ OTT มาคำนวณ เพราะแตกต่างจากบริการโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตมือถือ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน
หลังนำแบบจำลองไปคำนวณการควบรวมกิจการ พบว่า ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 7-23% หรือ 15-50 บาท/เดือน มากกว่าการประหยัดต้นทุน เฉลี่ยรวมอยู่ที่ประมาณ 220 บาท/เลขหมาย/เดือน

ในกรณีหลังควบรวมกิจการ แบ่งเป็น 3 กรณีคือ 1.รายใหญ่แข่งขันรุนแรง ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 7-10% หรือ 235-242 บาท 2.รายใหญ่แข่งขันกันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% หรือ 249-270 บาท และ 3.รายใหญ่ฮั้วกัน ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 365-480 บาท หรือ 66-120%

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากคิดจากผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนทั้งสิ้น 1,760 ล้านบาท แต่หากไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายรวมต่อดือนทั้งสิ้น 13,600 ล้านบาท รายจ่ายที่เพิ่มใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ กสทช. มีงบในการบริหารงานต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการช่วยเหลือแน่นอน จึงสนับสนุนให้ กสทช. ไม่เห็นชอบการควบรวมครั้งนี้ เพื่อให้มีผู้บริการเพิ่มขึ้น แข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้เราไม่มีทางออกในเรื่องนี้เลย

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ดำเนินการ 4 ด้านสำคัญ ต่อกรณีการควบรวมกิจการนี้ ได้แก่ 1.ทำข้อเสนอถึง กสทช. ชุดเดิม เพื่อขอให้ไม่พิจารณาควบรวมกิจการทรู-ดีแทค เนื่องจากอยู่ระหว่างการสรรหา กสทช. ชุดใหม่

2.สภาองค์กรของผู้บริโภคมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ กสทช. ถึงการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนาเรื่องการควบรวมกิจการนี้ 2 ครั้ง
โดยครั้งแรกมีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย เข้าร่วม ซึ่งให้ความเห็นว่า ไม่ควรอนุญาตให้ควบรวมกิจการ และครั้งที่ 2 เชิญ 4 พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค เข้าร่วม โดย 3 พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้

3.กำหนดมาตรการ ให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายเป็นของตัวเอง เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุน รวมถึงผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และ 4.จากการประชุมคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคเมื่อวันที่ 25 มีนาคม มีความชัดเจนว่า ไม่เห็นเช่นกัน เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านไป สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป ) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธพลเมือง