นิวไฮติด-ตายวันที่ 2! อินโดนีเซียเจอยอดติดกว่า 31,000 ยอดตายทะลุเกือบ 730 ทำยอดทั้ง 2 พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์วันที่ 2

490
0
Share:

กระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย รายงานว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมาถึงวันนี้ 7 กรกฎาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะยานมากถึง 31,189 ราย ทำสถิติติดเชื้อมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ หรือนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ในอินโดนีเซียเป็นต้นมา ส่งผลจำนวนติดสะสมพุ่งเป็น 2,345,018 ราย อยู่อันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ขณะที่ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งขึ้น 728 ราย ทำสถิติยอดเสียชีวิตรายวันมากเป็นประวัติการณ์ หรือนับตั้งแต่เกิดการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในอินโดนีเซียเป็นต้นมา ส่งผลให้จำนวนเสียชีวิตสะสมพุ่งเป็น 61,868 ราย

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศมาตรการปิดล็อก และรักษาระยะห่างเข้มข้นมากขึ้นในเกาะชวา และบาหลี ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดียที่มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด มาตรการที่บังคับใช้ใหม่ ได้แก่ สั่งให้ภาคธุรกิจทุกประเภทเปิดบริการถึง 20.00 น. และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเหลือเพียง 50% จากปกติ สั่งปิดศูนย์การค้า ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดห้างโมเดิร์นเทรด ปิดสวนสาธารณะ ปิดสถานที่ทางศาสนา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เข้าสู่วันที่ 6 ที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศโครงการเร่งฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ โดยเริ่มฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนตั้งแต่อายุ 12 – 17 ปี ในกรุงจาการ์ตา หลังจากองค์การอาหารและยาอินโดนีเซียอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวคผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ สำหรับวัคซีนซิโนแวคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ จะใช้ฉีดกับกลุ่มเยาวชนดังกล่าว

ภาวะการติดโรคระบาดโควิด-19 ในกลุ่มเด็กที่อินโดนีเซียพุ่งทะยานถึง 3 เท่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมมาถึงปัจจุบัน นายกเทศมนตรีกรุงจาการ์ตา เปิดเผยว่า โครงการฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะฉีดเยาวชนให้ได้ถึง 1.3 ล้านคนในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอินโดนีเซียตกอยู่ในความเลวร้ายนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พบว่าในต้นเดือนพฤษภาคม มีผู้ติดเชื้อระหว่าง 2,000-3,000 รายต่อสัปดาห์ จำนวนดังกล่างพุ่งทะยานเป็น 5,000 รายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน และพุ่งกระฉูดเกิน 6,000 รายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่แล้ว

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียต้องเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซออกซิเจนถึง 3 เท่า หลังจากความต้องการใช้ก๊าซออกซิเจนพุ่งสูงอย่างมากหลังจากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดีย กลายเป็นสายพันธุ์หลักโดยพบมากถึง 60% ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในอินโดนีเซีย ล่าสุดราคาขายก๊าซออกซิเจนต่อถึงพุ่งขึ้น 2.8 เท่าจาก 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,600 บาท เป็น 140 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4,480 บาท

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาควัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ยี่ห้อแอสตร้าเซเนก้าจำนวน 1 ล้านโดส ส่งมาให้ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ท่ามกลางอัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สูงถึง 20% ในอินโดนีเซีย