แพทย์ประชานิยม! หมอนิธิพัฒน์เตือนจุดจบประชานิยมการแพทย์ในประเทศไทย

343
0
Share:

นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประชานิยมทางการแพทย์ในไทย มีดังนี้

จุดจบประชานิยมทางการแพทย์

จุดจบแพทย์ที่เลือกเดินแนวทางประชานิยม แทนที่การยึดโยงกับหลักวิชาการและจริยธรรมทางการแพทย์

ฟังข่าวค่ำที่องค์กรแพทย์สองขั้ว ออกมาแสดงความขัดแย้งกันผ่านสื่อแล้วเศร้าใจ ในเรื่องยาต้านไวรัสสำหรับโรคโควิดขาดแคลนชั่วคราว ผมไม่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายที่เอาประเด็นขัดแย้งเชิงอำนาจ มาบดบังความถูกต้องทางวิชาการและความถูกต้องในการบริหารสถานการณ์วิกฤตสุขภาพ

หากจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วในระลอกแอลฟ่าแผ่คลุมกรุงเทพหลังสงกรานต์ มีแนวคิดแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน กทม. ผมเข้าไปร่วมคัดค้านและจบลงได้ด้วยข้อตกลงการพยายามแยกแยะผู้ติดเชื้อรายที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ต่อด้วยวิกฤตโควิดในทัณฑสถาน ช่วงแรกด้วยความจำเป็นเพราะกำลังคนไม่เพียงพอจึงมีการแจกฟาวิพิราเวียร์ไปก่อนแบบไม่แยกแยะ ช่วงหลังที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเผชิญวิกฤต เราเริ่มตั้งหลักกันได้และมีกำลังหนุนเพียงพอ จึงมีการคัดแยกความรุนแรงและให้ยาในรายที่มีข้อบ่งชี้ และจัดระบบการดูแลรักษาที่เหมาะสมสำหรับรายที่อาการรุนแรง ทำให้ช่วยลดการสูญเสียลงได้มาก

เมื่อมาถึงปลายระลอกเดลต้าต่อโอไมครอน มีการออกนโยบาย “เจอ แจก จบ” จนมาเห็นชัดเจนเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผมเริ่มไม่สบายใจอีกครั้ง ได้แต่เตือนทางวิชาการผ่านสื่อในหลายครั้งหลายวาระ ว่าความถูกต้องทางการแพทย์ไปกันไม่ได้กับนโยบายประชานิยม ยกเว้นในยามที่วิกฤตสุขภาพใหญ่เกินรับมือ อาจต้องใช้นโยบายประชานิยมบ้าง แต่ต้องไม่เสพติดจนละเลยความถูกต้องในเชิงวิชาการ

ครั้นมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่นของโอไมครอน เราคุ้นเคยกับการกรอกหูจากฝ่ายนโยบายว่า พร้อมรับมือการระบาดของโรคช่วงผ่อนคลายประเทศ ด้วยหลักสามพอ คือ ยาพอ เตียงพอ และ บุคลากรพอ ผมเองไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงแต่สังหรณ์ลึกๆ ว่า มันไม่น่าเป็นจริงตามนั้นได้ทั้งหมด พยายามส่งสัญญาณเตือนให้เตรียมหาทางลงเผื่อกันไว้บ้าง แต่ดูเหมือนไปไม่ถึงกลุ่มแพทย์ที่รับผิดชอบเชิงนโยบาย คงเพราะมีอำนาจที่หยิบยื่นจากนักการเมืองเป็นแรงจูงใจ ประกอบกับการละเลยประเมินข้อมูลการติดเชื้อในภาพรวมที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ทำให้สถานการณ์ “ไม่พอจริง” ตามราคาคุยค่อยเผยโฉมออกมา บุคลากรและเตียงที่ไม่พอยังอาจหยิบยืมจากงานดูแลผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดมาได้ ทั้งที่มันทำให้เกิดการเสียประโยชน์ของผู้ป่วยกลุ่มอื่นนี้ที่ต่อเนื่องมากว่าสองปีแล้ว แต่ถ้าคาดการสถานการณ์ผิดแล้วเตรียมยาไว้ไม่พอใช้จริง ประกอบกับอุปสงค์เทียมที่ไปโหมประโคมสร้างไว้ โดยการโฆษณาชวนเชื่อให้คนหวังพึ่งยารักษาเมื่อมีการติดเชื้อ แทนที่จะเน้นการระมัดระวังตัวให้มีโอกาสติดเชื้อน้อยที่สุดแทน แถมสร้างอุปสงค์เทียมต่อการได้ยาต้านไวรัส โดยไม่นับผลการได้รับวัคซีนและแยกแยะความรุนแรงโรค ตามที่ผมเคยเสนอไว้ดังรูปที่มี FC ช่วยทำให้หลังโพสต์ไปเมื่อ 24 ก.พ. 65 และได้บรรจุอยู่ในแนวทางการรักษาของประเทศช่วงหนึ่ง แต่ภายหลังเรื่องประวัติการรับวัคซีนถูกดึงออกไปโดยไม่ทราบเหตุผล ถึงวันนี้เมื่อหาของแจกไม่ทันตามสัญญา ประชานิยมจึงย้อนกลับมากัดกินผู้ใช้งานที่หลงระเริงมากเกินไป

ผมเองก็เป็นหมออาวุโสอายุเกิน 61 ปีแล้ว อยากเตือนไปถึงหมอรุ่นน้อง รุ่นลูก และรุ่นหลาน ว่า ลาภ (ความร่ำรวย) ยศ (ตำแหน่งทางบริหารที่นักการเมืองหยิบยื่นให้ หรือตำแหน่งวิชาการ) สรรเสริญ (การยกยอปอปั้นจากคนรอบข้าง) เป็นสิ่งที่ไม่จีรัง หากท่านใช้วิชาชีพแพทย์เพื่อยังประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยและไม่เห็นแก่สิ่งตอบแทน ตามคำสอนของสมเด็จพระราชบิดา ลาภ ยศ สรรเสริญ ตามสมควร จะบังเกิดแก่ท่านเองโดยไม่ต้องวิ่งเข้าหา