นิวไฮวันที่ 2! ดัชนีหุ้นดาวโจนส์พุ่งกว่า 200 จุด น้ำมันดิบปิดขึ้นเฉียด 80 ดอลลาร์

390
0
Share:

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 (ตามเวลาในสหรัฐ) ตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐ ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ปิดที่ระดับ 36,799 จุด +214 จุด หรือ +0.59% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 4,793 จุด -3 จุด หรือ -0.06% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 15,622 จุด -210 จุด หรือ -1.33% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน

สาเหตุจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองการลงทุนในทางบวกกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวแข็งแกร่ง การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสที่ 4 ของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาน่าจะออกมาดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกลับเต็มไปด้วยแรงกระหน่ำเทขายทั้งคืนผ่านมา สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบสกุลสำคัญเฉลี่ยแข็งค่า รวมถึงผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นอายุ 10 ปี พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 1.71%

เมื่อปี 2021 ที่พึ่งผ่านไปนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วยปัจจัยบวก ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง พุ่งทะยานถึง +18.73%, +26.89% และ +21.39% ตามลำดับ โดยดัชนีหุ้นดาวโจนส์และนาสแดคให้ผลตอบแทนบวกถึง 3 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ในปี 2021 ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ และเอสแอนด์พี 500 ปิดทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ทำสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์รวมถึง 70 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 2 รองจากในปี 1995 ที่มีสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 77 ครั้ง โดยเฉพาะดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดทำสถิติมากเป็นประวัติการณ์อย่างน้อยทุกๆเดือน ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 มาถึงสิ้นปีนี้

สาเหตุจากการฟื้นตัวและขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟดใช้นโยบายดอกเบี้ยระยะสั้นต่ำเป็นประวัติการณ์มาทั้งปี นอกจากนี้ ใช้มาตรการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในระบบการเงินตลอดปีนี้ ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นออกมาดีมาก โดยเฉพาะมีอัตราผลประกอบการพุ่งสูงถึง 45.1% เมื่อเทียบกับปี 2020 ส่งผลให้ในปีนี้ อัตราผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐเติบโตมากที่สุดในรอบ 13 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา หรือตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาล่มสลาย ซึ่งเรียกกันคุ้นหูว่า วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์

สำหรับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี 2021 คือ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยทั้ง 2 กลุ่มขยายตัวกว่า 40% ตามด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และสถาบันการเงิน ขยายตัวกว่า 30%

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 76.89 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +2.20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1% ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 79.87 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +2.51 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.1%

สาเหตุจากกลุ่มโอเปกพลัสมีมติการประชุมในวันอังคารที่ 4 มกราคมนี้ว่า ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของทั้งกลุ่มในเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 400,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงเป็นความกังวลของตลาดน้ำมันดิบโลก
สำหรับตลาดน้ำมันดิบโลกสิ้นสุดปี 2021 ตลาดน้ำมันดิบทั้ง 2 แห่งมีราคาพุ่งทะยานสูงถึง 57% และ 53% ตามลำดับ ทำสถิติราคาน้ำมันดิบที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในรอบ 12 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ซึ่งในปี 2009 ตลาดน้ำมันดิบโลกให้ผลตอบแทนพุ่งสูงถึงกว่า 70%

ราคาทองคำล่วงหน้านิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 1,814.60 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +14.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.8% สาเหตุจากทั้งๆที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการะยะสั้นอายุ 10 ปี พุ่งสูงในรอบ 6 สัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าสูงขึ้น แต่นักลงทุนกลับมาเริ่มกังวลภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ทำสถิติติดเชื้ออย่างรุนแรงทั้งระดับโลก และในหลายประเทศ

เมื่อปีที่ผ่านไป การลงทุนทองคำตลาดโลกในปี 2021 ทำให้ผลตอบแทนลดลง 4% ทำสถิติเป็นปีที่ให้ผลตอบแทนรายปีติดลบมากที่สุดในรอบ 6 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2015

สาเหตุจากธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลกมีมติที่ขัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในปี 2022 เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลุ่มยูโร ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐยุติมาตรการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในระบการเงินเร็วขึ้นจากกำหนดเดิม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบสกุลสำคัญเฉลี่ยแข็งค่าในปีนี้ รวมถึงผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นอายุ 10 ปี เฉลี่ยในระดับสูงในปี 2021