นี่ก็รอดู! ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนสวนทาง รายย่อย-สถาบันทรุด ต่างชาติยังทรงตัว

251
0
Share:
นี่ก็รอดู! ดัชนีเชื่อมั่น นัก ลงทุน สวนทาง รายย่อย-สถาบันทรุด ต่างชาติยังทรงตัว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า “ช่วง 1 เดือนข้างหน้า ตลาดการลงทุนจับตาประเด็นการเมือง ซึ่งตลาดชอบความแน่นอนและสเถียรภาพ หากไม่มีความขัดแย้งตลาดพร้อมปรับตัว และจากนั้นต้องรอดูนโยบายเศรษฐกิจ ว่าจะเอื้อต่อการขับเคลื่อนให้ตลาดไปไกลแค่ไหน ซึ่งหากหุ้นไทยเริ่มมีความน่าสนใจเงินทุนจะเริ่มไหลกลับเข้ามา โดยรัฐบาลใหม่เป็นความหวังของการขับเคลื่อน ทั้งนโยบาย 4.0 การเป็นศูนย์กลางภูมิภาค เป็นต้น ที่เป็นปัจจัยช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ”

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ยังเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน ก.ค. 66 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 81.62 ปรับขึ้นเล็กน้อย 5.1% จากเดือนก่อนหน้ามากลับอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

สาเหตุจากนักลงทุนมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเงินทุนไหลออก

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

ด้านผลสำรวความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 33.3% อยู่ ที่ระดับ 100 โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 10.6% อยู่ที่ระดับ 65.81 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลง 50.0% อยู่ที่ระดับ 50.0 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 6.5% อยู่ ที่ระดับ 85.71 ซึ่งหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ (STEEL)

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การส่งสัญญาณของ FED ที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักอีกหลายประเทศ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

สำหรับปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ความมีเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลชุดใหม่ยังมี 3 ประเด็นท้าทายสำคัญที่รออยู่ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ซึ่งภาพรวมตลาดหวังพึ่งพาครม.ชุดใหม่ และเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัล ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ,โอกาสธุรกิจในภูมิภาคกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องรอดูว่าจะขับเคลื่อนนโยบายดึงดูดการลงทุนอย่างไร รวมถึงกฎเกณฑ์การเข้าเมืองเพื่อเปิดการลงทุน , การเสื่อมลงของสหรัฐฯ และการเลือกข้างระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยไทยจะดำเนินตนเองอย่างไรให้เหมาะสมท่ามความขัดแย้ง

ทั้งนี้ ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และการคาดการณ์ต่างๆ โดยมองว่าควรเป็นระดับดอกเบี้ยขาต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี โดยการประชุมแบงก์ชาติช่วงวันที่ 2 ส.ค.นี้ต้องติดตาม มองว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับ 2.25% จากล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2%