น่ากังวล! ดัชนีค้าปลีกไทยไตรมาส 1/66 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากกำลังซื้อซบเซา

255
0
Share:
น่ากังวล! ดัชนี ค้าปลีก ไทย ไตรมาส 1/66 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากกำลังซื้อซบเซา

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่า ลดลง 13.5 จุด ขณะที่ดัชนี RSI ระยะ 3 เดือนจากนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) ทรงตัว สะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจต้องใช้เวลานานขึ้น รวมทั้งค่าแรงและค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับกำลังซื้อที่ยังซบเซา แม้จะมีปัจจัยบวกอาทิ วันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่-ตรุษจีน มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่สามารถส่งแรงหนุนได้มากพอ เนื่องจากกำลังซื้อฐานรากที่อ่อนแอชัดเจน,ต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง, ค่าสาธารณูปโภค

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index ?RSI) ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาสหนึ่ง 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ 2565 มีความ “น่ากังวล” เนื่องจากปรับลดลงถึง 13.5 จุด

ด้านดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sale Growth) QoQ ,ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ต่างพากันปรับตัวลดลงสะท้อนถึงผู้บริโภคฐานราก กำลังซื้อยังอ่อนแออยู่มากรวมทั้งภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสารส่งผลให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคลดกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น ด้วยความกังวลฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นและโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดจากอากาศที่ร้อนจัด

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ เห็นว่าหลังการเลือกตั้ง ควรรีบจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อเร่งกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการสร้างงาน การจ้างงาน และลดภาระค่าครองชีพซึ่งต้องมีมาตรการหลากหลาย มุ่งเป้าให้ตรงกลุ่มต่างๆ ไม่ซ้ำซ้อนเน้นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภคฐานรากที่ยังอ่อนแอเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ในขณะที่ผู้บริโภคระดับบน, ผู้มีรายได้ประจำที่มีกำลังซื้อต้องใช้มาตรการต่างชุดกัน โดยเน้นย้ำว่ารัฐต้องคลอดมาตรการที่ต่อเนื่องและระยะยาวจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน