น่าจะลด ! กกร. คาดแบงก์ชาติ ลดอัตราดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ จับตาเงินเฟ้อผันผวน

132
0
Share:

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมประเมินว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว ในระยะข้างหน้า ดอกเบี้ยควรปรับทิศทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวน โดย กกร.ปรับลดประมาณการณ์กรอบเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิมปลายปีก่อนคาดอยู่ที่ 1.7 -2.2%

ขณะที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน ยังมียอดภาระหนี้ที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า  6.1 ล้านบัญชี และตั้งแต่สถานการณ์โควิดมีต้นทุนทางเครดิตที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 6% ของสินเชื่อ

ทั้งนี้เอกชนกังวลมากขึ้นกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง หากขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาค จะกระทบการส่งออกสินค้าไทยและการนำเข้า supply chain ส่งผลราคาน้ำมัน และสินค้าจำเป็นราคาสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว กดดันต้นทุนการผลิต ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติลง รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศปีนี้ เช่น การเลือกตั้ง ปธน. ไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐฯ ปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว และทำให้ต้องติดตามผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรป ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

โดยยังคงประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ในกรอบ 2.8-3.3% โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Receipt และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 33-34 ล้านคน แต่ยังไม่รวมผลของมาตรการ Digital Wallet ซึ่งเบื้องต้นหอการค้าไทยประเมินว่าหากเม็ดเงินออกมา 500,000 ล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้อีก 1%

ที่ประชุมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับกลางและระดับล่าง ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยในระหว่างรองบประมาณ ปี 67 ภาคเอกชนเห็นว่าควรจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง

พร้อมเสนอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือได้เงินมาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้ สำหรับหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อ และเอาหนี้นอกระบบทางการค้าเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูงได้