บรูไนประกาศโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น ชาติแรกของโลกและอาเซียน

690
0
Share:
โควิด

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ดารุส ซาราม ทรงประกาศสถานะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศบรูไน โดยเปลี่ยนสถานะจากโรคระบาด หรือ Pandemic ให้มีสถานะเป็นโรคประจำถิ่น หรือ Endemic มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2565

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นการประกาศการปรับเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นระยะเริ่มต้น ทำให้รัฐบาลประเทศบรูไนประกาศกฎเกณฑ์ และมาตรการต่างๆในการรักษาพยาบาล และการติดตามตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดจะยังคงดำเนินการต่อไป โดยขอให้ประชาชนชาวบรูไนรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติ (SOPs) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับมาตรการที่บังคับใช้ในช่วงสถานะโรคประจำถิ่นโควิด-19 ของบรูไน ประกอบด้วย -ควบคุมการเดินทางยามกลางคืนในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. ไปถึงวันที่ 14 มกราคม 65 -อนุญาตให้รวมตัวในที่สาธารณะได้ 75% หรือไม่เกิน 300 คน
-ธุรกิจภาคเอกชนให้เปิดบริการได้ 75% หรือไม่เกิน 300 คน
-ไม่อนุญาตให้ใช้บริการนั่งทานอาหารในร้านอาหาร หรือในสถานที่จัดงานอีเวนต์
-ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของภาครัฐบาล ให้กลับไปทำงานตามเวลาปกติ คือ 7.45-12.15 น. และ 13.30-16.30 น.
-เปิดโรงเรียนทั่วประเทศสำหรับนักเรียน และบุคลากรที่ฉีดวัคซีนครบโดสมีผล 3 มกราคม 65
-อนุญาตให้ผู้ฉีดวัคซีนครบโดสเดินทางออกนอกประเทศทางอากาศได้ เริ่ม 1 มกราคม 65 ยกเว้นการเดินทางทางบก และทางเรือ ที่ไม่อนุญาต
-ชาวต่างชาติ หรือชาวบรูไนในต่างประเทศที่เดินทางเข้าบรูไน ต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นลบด้วยการตรวจแบบ RT-PCR เป็นเวลา 48 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางจากประเทศต้นทาง

การประกาศเปลี่ยนสถานะของโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นในระยะเริ่มต้น ส่งผลให้ประเทศบรูไนเป็นประเทศแรกของโลก และของอาเซียนที่ประกาศสถานะให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ขณะที่ รัฐบาลบรูไนทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ครบโดสได้ราว 88% ของประชากรทั้งประเทศ สำหรับการฉีดเข็มบูสเตอร์ หรือเข็มสามจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในรอบ 24 ชั่วโมงผ่านมาถึงเมื่อวานนี้ 12 ธันวาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย ส่งผลยอดติดเชื้อสะสมเป็น 15,348 ราย อยู่อันดับที่ 167 ของโลก และอันดับที่ 11 ของอาเซียน ขณะที่ไม่พบผู้เสียชีวิตรายใหม่โดยเป็นเวลาติดต่อกันถึง 11 วัน ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมเป็น 98 ราย บรูไรมีสถิติติดเชื้อรายวันมากสุดเป็นประวัติการณ์จำนวน 504 ราย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ส่วนยอดเสียชีวิตรายวันมากสุดเป็นประวัติการณ์มีจำนวน 5 ราย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 และ 17 ตุลาคม 2564