บาทขยับแข็ง ! ค่าเงินบาทวันนี้ “แข็งค่า“ หลังเงินดอลลาร์ย่อลง ราคาทองคำรีบาวด์ 

113
0
Share:

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้  เปิดที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.73 บาทต่อดอลลาร์ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.75 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเมินกรอบ 35.50-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.57-35.74 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำเพิ่มเติม และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปได้มาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นต่างชาติยังคงรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าอีกทั้งการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบกว่า +2% ในคืนที่ผ่านมา ตามยอดสต็อกน้ำมันดิบและยอดสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าคาด ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันดิบเข้ามากดดันเงินบาทได้บ้าง 

แนวโน้มค่าเงินบาท กรุงไทยประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอยู่บ้าง รวมถึงการทยอยขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ 

ขณะที่ต้องระวัง แรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ที่เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะให้ตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ใกล้โซนแนวต้าน ในการทยอยขายทำกำไรได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นต่างชาติยังคงเดินหน้าเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) หลังเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา (ผู้เล่นต่างชาติส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดี และมีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหากยอดค้าปลีก และดัชนี PPI ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร โดยเราประเมินเบื้องต้นว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าไปทดสอบโซน 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าดังกล่าว ในทางกลับกัน หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพรส์ตลาด เราคาดว่า เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ทำให้โซนแนวรับอาจยังอยู่ในช่วง 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 35.30 บาทต่อดอลลาร์)