บาทเปิดขยับแข็งค่าเล็กน้อยรับบอนด์ยีลด์ร่วง-ดอลลาร์อ่อนค่า กังวลสถานการณ์ตะวันออกกลาง

157
0
Share:
เงินบาท เปิดขยับแข็งค่าเล็กน้อยรับบอนด์ยีลด์ร่วง-ดอลลาร์อ่อนค่า กังวลสถานการณ์ตะวันออกกลาง

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.91 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 37.05 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก หลังดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าตามบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากตลาดกังวลถึงปัจจัยเสี่ยงที่มาจากสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่น่าจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ขณะเดียวกันมีแรงซื้อทอง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

“บาทกลับมาแข็งค่าตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวย่อลงตามบอนด์ยีลด์ที่ร่วงลงแรง หลังตลาดกังวลเรื่องการสู้รบในตะวันออกกลาง” นักบริหารเงิน กล่าว

ทั้งนี้ นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.80-37.05 บาท/ดอลลาร์

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.89-37.13 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่มองว่า เฟดอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หลังบอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องซึ่งเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับ แนวโน้มเงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน แม้ว่าโมเมนตัมฝั่งแข็งค่าเริ่มกลับมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ เนื่องจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่ หากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้า ซึ่งจะกดดันแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังมีความผันผวนอยู่ ทั้งนี้ เราประเมินว่าแรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอตัวลง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลง ส่วนในฝั่งตลาดหุ้น เราเริ่มเห็นแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาบ้าง

โดยกรุงไทยยัฃประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทไว้แถว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ และคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่า 37.50 บาทต่อดอลลาร์ (ตามที่เราได้ประเมินไว้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน) ขณะที่ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยยังให้โซนแนวรับแรกแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และโซนแนวรับถัดไปที่ 36.60 บาทต่อดอลลาร์