บีโอไอรับลูกนายกฯ ไม่ทิ้งค่ายรถญี่ปุ่น ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถ “อีวี-สันดาป”

361
0
Share:
บีโอไอ รับลูกนายกฯ ไม่ทิ้งค่าย รถ ญี่ปุ่น ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลาง ผลิตรถ "อีวี-สันดาป"

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งแรกของรัฐบาล ได้พิจารณายุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (2567-2570) โดยจะเป็นการโฟกัสการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม และได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของบริษัทจีนที่มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ได้แผนการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ บีโอไอจะดำเนินการควบคู่กันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และยานยนต์ไฟฟ้า ตามแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด

ทั้งนี้ เป้าหมายของไทย คือ การจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก โดยภายในปี 2030 ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ขณะที่อีก 70% เป็นการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งซัพพลายเชนของรถอีวีจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยบีโอไอจะเร่งสนับสนุน 2 เรื่อง ได้แก่ ทำให้ซัพพลายเออร์ในประเทศเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอีวีให้ได้มากที่สุด โดยการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้พบกับค่ายรถที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยจัดเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ รวมทั้งแบบเจาะจงเป็นรายบริษัท และดึงการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของอีวีที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ได้ภายในประเทศ

ส่วนการกระตุ้นจากเทคโนโลยีเดิมไปสู่ EV พร้อมเปิดกว้างและรับฟังทุกค่าย โดยมุ่งหวังจะนำมาออกแบบมาตรการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และมาหารือกับรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันบีโอไอมีการหารือกับทุกค่ายของทุกประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการผลักดันให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลก โดยมีเป้าหมายให้ไทยที่ 1 ในอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของโลกทุกอุตสาหกรรม โดยเวลาไปพบกับบริษัทต่างชาตินอกจากชวนมาลงทุนโรงงานผลิตในไทยแล้ว ช่วงหลังจะชวนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย รวมถึงมีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดผลกับไทยมากกว่าโรงงานผลิตอย่างเดียว

สำหรับแนวโน้มการลงทุน EV ยังไปได้ดีและคาดว่าจะมีการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการที่บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วส่วนใหญ่กำลังอยู่ในกระบวนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งสายการผลิตไม่ว่าจะเป็น MG ,NETA ,ฉางอัน,BYD และ AION โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่ค่ายรถส่วนใหญ่เริ่มการผลิต โดยบีโอไอจะเร่งส่งเสริมให้ซัพพลายเชนของ EV ในประเทศมีความเข้มแข็ง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอีวีตลอดทั้งอีโคซิสเต็ม

นอกจากนี้ ในการประชุมบีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุนรวม 6 โครงการมูลค่า 41,086 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก ของบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปีละ 58,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ปีละ 36,000 คัน

ขณะเดียวกันยังเตรียมจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์สันดาป เพื่อให้ไทยยังคงเป็นเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถญี่ปุ่น โดยหลังจากนี้บีโอไอจะหารือกับค่ายรถยนต์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะสรุปเป็นนโยบายภายใน 2 เดือน ซึ่งจะมีความชัดเจนก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้